ระบบตำรวจของสหรัฐอเมริกา

ก่อนปี ค.ศ.๑๘๐๐ ระบบตำรวจจะมีเฉพาะเมืองใหญ่ ในลักษณะเหมือนยาม (Watchman) ที่ว่าจ้างให้ดูแลในเวลากลางคืน ต่อมากลาง ค.ศ.๑๘๐๐ ผู้บริหารเมืองต่าง ๆ ในออกกฎหมาย จัดตั้งระบบตำรวจที่รักษาความปลอดภัยขึ้นแทนที่ Watchman โดยในช่วงแรกรัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Government) จะไม่มีอำนาจเข้ายุ่งเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐเลย ซึ่งในส่วนรัฐบาลกลาง ก็จะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญกำหนด เช่น อำนาจเกี่ยวกับภาษี, การไปรษณีย์,การทหาร,การทูต, การควบคุมการค้าระหว่างมลรัฐฯ รัฐบาลกลางจึงได้ตั้งองค์กรบังคับใช้กฎหมายของตนเองขึ้นมาบ้าง แต่เพิ่งจะมาเป็นรูปเป็นร่างจริง ๆ ก็ในช่วงปี ค.ศ.๑๘๗๐ ที่จัดตั้งกระทรวงยุติธรรม ( The United States Department of Justice) และจัดตั้งหน่วยบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลกลางขึ้นมา เช่น FBI ในปี ๑๙๒๔ เป็นต้น

ก่อนปี ค.ศ.๑๙๐๐ การพัฒนาตำรวจ เป็นเรื่องภายในของรัฐ และแต่ละรัฐก็พัฒนาไปตามมีตามเกิด และตำรวจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และฝ่ายการเมืองก็ปกป้องตำรวจ จนประชาชนเดือดร้อนมาก และตำรวจที่ไม่มีเส้นสายก็เดือดร้อนเช่นกัน จนต่อมารัฐบาลกลางได้ออกกฎหมายข้าราชการพลเรือน (Pendelton Act) ในปี ๑๘๘๓ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันการแทรกแซงการบริหารงานจากฝ่ายการเมือง และในขณะเดียวกัน สถานะตำรวจเอง เป็นแบบกึ่งลูกจ้างกึ่งทหาร ตำรวจจึงมีสิทธิได้รับความคุ้มกันจากกฎหมายดังกล่าว และในขณะเดียวกัน ก็มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน (Police Union) เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเอง โดยตำรวจเองก็มีสิทธิ์ในการต่อรองด้านสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการทำงานกับรัฐ เป็นต้น



รัฐบาลกลาง ได้ออกกฎหมาย George-Dean Act of 1936 เพื่อพัฒนาตำรวจในระดับมลรัฐ โดยให้ทุนการศึกษาแก่ตำรวจ และทำงานตอบแทน ทั้งนี้ เนื่องจากตำรวจส่วนใหญ่ มีระดับการศึกษา เพียงมัธยมศึกษาตอนปลาง ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดีเท่าที่ควร และในขณะเดียวกันรัฐบาลกลาง ก็สนับสนุนการปฏิบัติงานของตำรวจของทุกรัฐและทุกเมือง ในด้านเทคโนโลยี และห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (Forensic Laboratory) โดยให้เงินพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และในขณะเดียวกัน ก็พัฒนาห้องปฎิบัติการของ FBI เพื่อสนับสนุนการทำงานของตำรวจท้องถิ่นอย่างเต็มที่



สำหรับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันของสหรัฐนั้น จะมีหลายประเภท ได้แก่ ตำรวจระดับรัฐบาลกลาง และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ เช่น หน่วยสืบสวนด้านภาษีอากร (IRS), หน่วยตำรวจมลรัฐ หน่วยตำรวจท้องถิ่น หน่วยงานตำรวจแบบ Sheriff รวมกันแล้วประมาณ ๑๗,๗๘๔ หน่วย (Departments) นับรวมกำลังพล ทั้งประเทศประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ นาย ที่มีสัญญาการทำงานแบบ Full time employment



หน่วยตำรวจในระดับมลรัฐและท้องถิ่นนั้น จะมีลักษณะที่คล้าย ๆ กัน โดยจัดแบ่งแผนกกันไปตามสภาพปัญหาของท้องถิ่นและความจำเป็น ซึ่งทั่วไปจะมีลักษณะ คือ เป็นองค์กรที่มีการจัดสายบังคับแบบแบนราบ แต่ละหน่วยขึ้นตรงต่อ Chief Police มีการจัดแบ่งข้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็น ๒ ประเภท เหมือนกัน คือเป็นตำรวจ (police officer) กับเป็น Civilian officer แต่มีข้อสังเกตคือ ข้าราชการตำรวจมือใหม่ เริ่มเข้าทำงาน กับ Chief Police มีเงินเดือนต่างกันประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างเช่น ตำรวจมือใหม่ เมืองแชมเปญจ์ รัฐอิลลินอยด์ จะได้เงินเดือนต่อปี ประมาณ ๕๐,๐๐๐ เหรียญ ส่วน Chief Police จะได้รับเงินเดือน ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ เหรียญ หลังจากทำงานมาประมาณ ๒๐ ปี แล้ว (ไม่เหมือนข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยกับ ข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของประเทศไทย เงินเดือนต่างกันเป็นร้อยเท่า จากจุดเริ่มต้น จนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) โครงสร้างขององค์กร มีดังต่อไปนี้



1. Chief Police เป็นหัวหน้าสูงสุดขององค์กร

2. Deputy Chief Police ซึ่งจะมีหน้าที่ในทางการบริหารทั่วไป เช่น การติดต่อ

ประสาน และการควบคุมการดำเนินการของตำรวจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของรัฐบาลมลรัฐ เป็นต้น

3. แผนกมาตรฐานวิชาชีพตำรวจ ( Professional Standard Unit or Internal Affair

Audit) หน่วยงานนี้ จะเป็นหน่วยอิสระ และขึ้นตรงต่อ Chief Police หรือ Deputy Chief Police ในการสืบสวนสอบสวนกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายหรือประพฤติมิชอบด้วยประการใด ๆ (Misconduct)

4. หน่วยงานประเภท Bureau ซึ่งประกอบด้วยหลายแผนก แต่ละแผนก็จะมีหัวหน้าใน

ระดับ เช่น Major หรือ Captain และมีระดับ Lieutenant เป็นผู้ช่วย เป็นต้นว่า

4.1) หน่วยสายตรวจ (Patrol) ซึ่งกำลังตำรวจประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ จะถูก

จัดเป็นสายตรวจ และ เจ้าหน้าที่ตำรวจสายอื่น ๆ จะต้องถูกหมุนเวียนมาเป็นสายตรวจ รวมถึงหัวหน้าองค์กรตำรวจนั้น ก็จะต้องผ่านงานสายตรวจมาด้วยเช่นกัน

4.2) หน่วยสืบสวน (Investigation) จะแบ่งเป็นหลายแผนก ตามประเภทคดี

และความชำนาญเฉพาะสายงาน โดยจะมีเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน (Detective) เป็นผู้ดำเนินการสืบสวนในแผนกต่าง ๆ ได้แก่

4.2.1) แผนกสืบสวนคดีต่อชีวิตร่างกาย หรือ Crime against person unit

4.2.2) แผนกสืบสวนคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ หรือ Crime against

property unit

4.2.3) แผนกสืบสวนคดีที่เด็กตกเป็นผู้กระทำผิดหรือตกเป็นเหยื่อ

Juvenile Unit

4.2.4) แผนกสืบสวนคดีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หรือ Computer

Crime Unit

4.2.5) แผนกสืบสวนคดีสื่อลามก การพนัน โสเภณี และยาเสพติด หรือ

Vice and Narcotic

4.2.6) แผนกสนับสนุนการตรวจที่เกิดเหตุเพื่อหาร่องรอยพยานหลักฐาน

Crime Science Investigation

4.3) หน่วยตำรวจจราจร (Traffic) ซึ่งจะแบ่งเป็นสองแผนก ได้แก่

4.3.1) แผนกสืบสวบสอบสวนคดีอุบัติเหตุจราจรร้ายแรง (Accident

Investigation) เนื่องจากคดีอุบัติเหตุจราจรเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ต้องฟ้องศาล หากไม่ยอมเสียค่าปรับ หรือ ถ้าเมาแล้วขับ และหากชนคนตายแล้ว ไม่มีสิทธิ์ขับรถอีกเลย

4.3.2) แผนกสายตรวจรถจักรยานยนต์ (Motorcycles) ซึ่งมีหน้าที่ในการ

ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา และออกใบสั่งอย่างเคร่งครัด

4.4) หน่วยบริหารและจัดการ (Administration) หน่วยงานนี้ จะทำหน้าทีบริหารงานด้านทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรตำรวจ แต่บุคคลากรในองค์กรนี้ จะเป็นพนักงานประเภท Civil employee ไม่แต่งเครื่องแบบ

4.5) หน่วยพิเศษ (Special Agent) ซึ่งจะทำหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือตัวประกันโดย SWAT team หรือ ควบคุมฝูงชน (Crowd Control) และแผนกอื่น ๆ ตามความจำเป็น และพันธกิจขององค์กรตำรวจ



นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้ายตำรวจอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Sheriff หัวหน้าหน่วยงานนี้ จะทำหน้าที่คล้ายตำรวจ แต่มาจากการเลือกตั้ง และโดยปกติจะมีท้องที่ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในเขตรอบนอกของเมือง (rural area) หากจะเปรียบเทียบกับประเทศไทย ก็อาจจะเปรียบเทียบได้กับกำนันและผู้ใหญ่บ้าน โดย Chief Sheriff จะมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้อยู่ระหว่างการพิจาณาคดี หรือระหว่างการทำทัณฑ์บน โดยจัดการให้สถานที่ที่เรียกว่า Jail ซึ่งจัดเป็น Local Correction ในคดีความผิดไม่ร้ายแรง (Misdemeanor) นอกจากนี้ ยังมีอำนาจในการบังคับบังใช้กฎหมาย ตามที่เมืองมอบหมาย หรือจัดทำสัญญาในการให้บริการสาธารณะด้วย หากจะถามว่า เหตุใดสหรัฐอเมริกา จึงยังรักษาระบบ Sheriff ไว้ ก็อาจจะมีที่มาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ อันเทียบเคียงได้กับการรักษาระบบกำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจจะมีความจำเป็นน้อยลงไปทุกที แต่หน่วยงาน Sheriff จะทำหน้าที่ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ และทำงานเป็นสัญญาว่าจ้างขึ้นตรงต่อเมืองนั้น ๆ



การจัดแบ่งสายงานในการสืบสวนคดีอาญาของตำรวจสหรัฐอเมริกา ไม่ได้แยกสายงานสืบสวนออกจากสายงานสอบสวนแบบในประเทศไทย แต่แบ่งไปเป็นตามแผนกตามความชำนาญเฉพาะด้าน ทำให้ไม่ประสบปัญหาแบบประเทศไทยที่ พนักงานสอบสวนไม่อาจพึ่งพาเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนและฝ่ายอื่น ๆ ได้ ทำให้พนักงานสอบสวนในประเทศไทยทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะไม่อาจระดมสรรพกำลังและทรัพยากรในฝ่ายอื่น ๆ เข้าร่วมทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานได้อย่างเต็มที่ การรวบรวมพยานหลักฐานในคดีอาญาจึงเป็นลักษณะที่ฝ่ายสืบสวนและฝ่ายสอบสวนต่างคนต่างทำ