บทความเรื่องวิชานิติเวชศาสตร์

วิชานิติเวชศาสตร์
โดย พันตำรวจเอกนายแพทย์ พรชัย สุธีรคุณ
สำนักงานแพทย์ใหญ่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

วัตถุประสงค์ในการศึกษา
1. เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจการชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นได้โดยถูกกฎหมาย
1.1.การพิสูจน์บุคคล
1.2.การหาระยะเวลาการตาย
1.3.การหาเหตุตาย
1.4.การหาพฤติการณ์ในการตาย
2. เพื่อให้นักศึกษาทราบ กฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบ เกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ
2.1 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
2.2 กฎกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ
2.3 ระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดี ว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ
3.เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจการตรวจผู้ป่วยทางคดี
3.1 ผู้ป่วยบาดเจ็บกรณีต่างๆ
3.2 ผู้เสียหายกรณีถูกข่มขืน
4.เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นลักษณะของการตายจาก
4.1 ถูกของแข็งไม่มีคม
4.2 ถูกของแข็งมีคม
4.3 ถูกกระสุนปืนและ/หรือวัตถุระเบิด
4.4 การผูกคอตาย
4.5 จมน้ำตาย
4.6 ถูกกระแสไฟฟ้าลัดวงจร
4.7 การตายจากถูกความร้อน การตายอื่นๆ

หัวข้อในการบรรยาย
1. แนะนำวิชานิติเวชศาสตร์ การชันสูตรและผ่าศพทางนิติเวช
2. การเปลี่ยนแปลงหลังตาย และการพิสูจน์บุคคล
3. การตายจากบาดแผล
4. การตายอย่างกะทันหันและไม่คาดคิด จมน้ำ ขาดอากาศ และเหตุทางฟิสิกส์
5. การตรวจผู้ป่วยคดี การตรวจผู้ถูกข่มขืน
6. นิติพิษวิทยา



1. แนะนำนิติเวชวิทยา (Introduction to Forensic Medicine)
นิติเวชวิทยา หรือนิติเวชศาสตร์ คือสาขาวิชาแพทย์ที่นำเอาความรู้ต่าง ๆ ของวิชาแพทย์ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ สาขาต่าง ๆ มาอธิบายเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหรือขบวนการยุติธรรม
ขอบเขตการทำงาน อาจแบ่งได้เป็น 6 ประเภทงาน คือ
1. นิติพยาธิ นำมาใช้ในเรื่องการชันสูตรพลิกศพ
2. พิษวิทยา ตรวจวินิจฉัยคนป่วยและคนตายจากสารพิษ
3. นิติจิตเวช ตรวจวินิจฉัยสภาพจิตของผู้กระทำผิดเพื่อพิจารณาการรับผิด, การทุเลาและผ่อนผันการลง
โทษ, ไร้ความสามารถ ความผิดทางเพศ ฯลฯ
4. ธรรมศาสตร์คลีนิค ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบาดแผล
5. นิติซีโรโลยี่ พิสูจน์หลักฐานตัวบุคคล พ่อแม่ลูก
6. วัตถุพยาน ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหลักฐานทางชีววัตถุ เช่น เป็นคราบอสุจิหรือไม่
ระบบและกระบวนการของนิติเวชศาสตร์ในประเทศไทยเป็น “ระบบตำรวจ” คล้ายกับประเทศญี่ปุ่น รัสเซีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก

การตายและการชันสูตรพลิกศพ

การชันสูตรพลิกศพและความรู้เบื้องต้นการตรวจที่เกิดเหตุ
การชันสูตรพลิกศพ
การชันสูตรพลิกศพก็คือการตรวจศพที่ตายโดยผิดธรรมชาติยังสถานที่พบศพ หรืออาจตรวจศพยังสถานที่ตรวจศพก็ได้ เป็นเรื่องที่แพทย์และพนักงานสอบสวนตลอดจนญาติที่เกี่ยวข้องจะต้องทราบเพื่อจะได้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือในกรณีตายที่เป็นปัญหาทางด้านคดี เจ้าหน้าที่จะได้ร่องรอยและหลักฐานรวดเร็วเพื่อนำความยุติธรรมมาสู่ประชาชนต่อไป ส่วนศพที่ตายโดยธรรมชาตินั้น แพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบเวชกรรมทุกท่าน สามารถออกใบรับรองการตายเกี่ยวกับคนไข้ที่ตนรักษาได้ อนึ่งการชันสูตรศพโดยละเอียดนั้นหรือที่เรียกว่าผ่าศพตรวจ (Autopsy) มีความมุ่งหมายในการหาสาเหตุการตายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และเพื่อให้ทราบอย่างแน่ชัดว่าอาการของโรคดำเนินมาอย่างไร นานเท่าใดและเกี่ยวพันกับบาดแผลที่เกิดขึ้นใหม่ๆ หรือไม่ อะไรเป็นสาเหตุตายที่แน่นอน เกิดจากพยาธิสภาพใหม่ หรือพยาธิสภาพเก่าหรือทั้งสองอย่างร่วมกัน

การชันสูตรศพ ณ ที่เกิดเหตุ (CRIME SCENE INVESTIGATION)
หมายถึงการไปตรวจศพ ณ สถานที่พบศพ โดยมีความมุ่งหมายของการชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิอาญา ม.154 บัญญัติไว้ว่า " ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพทำความเห็นเป็นหนังสือแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใคร หรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้"
จากบทบัญญัติข้างบนนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายของกฎหมาย ที่ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพทำความเห็นในเรื่องต่าง ๆ 4 ประการ คือ
1. เหตุตายเท่าที่ทำได้ (Assume cause of death)และพฤติการณ์ที่ตาย
พฤติการณ์ที่ตายตรงกับภาษาอังกฤษว่า MANNER OF DEATH หมายถึงการตายโดยอุบัติเหตุทำตนเองหรือถูกทำร้ายตายหรือตายโดยโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งถือว่าตายโดยธรรมชาติ
2. ผู้ตายเป็นใคร (Identify the person)
3. สถานที่และเวลาตาย (Timing after death)
4. ใครทำให้ตายเท่าที่พอจะบอกได้

ระเบียบการชันสูตรพลิกศพ
ในประมวลกฎหมายวิชาพิจารณาความอาญา ม. 148 ได้บัญญัติเหตุที่จะทำการชันสูตรพลิกศพไวัดังนี้
" ม.148 เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติหรือตายในระหว่างควบคุมของเจ้า พนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่การตายโดยประหารชีวิตตามกฎหมาย
การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ
1. ฆ่าตัวตาย
2. ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
3. ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
4. ตายโดยอุบัติเหตุ
5. ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
ดังนั้นเหตุที่จะทำการชันสูตรพลิกศพจึงสรุปตามบัญญัติในกฎหมายข้างต้นได้ 2 ประการ คือ
1. การตายโดยผิดธรรมชาติหรือสงสัยว่าจะมีการตายโดยผิดธรรมชาติ
2. การตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานทุกกรณี
การตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานนั้น ไม่จำกัดเฉพาะว่าต้องตายในห้องขังหรือเรือนจำ จะตายนอกห้องขังหรือเรือนจำก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระหว่างควบคุมโดยชอบ จะตายโดยโรคภัยไข้เจ็บหรือเป็นลมตาย หรือถูก กลุ้มรุมทำร้ายกันถือว่าอยู่ในข่ายจะต้องชันสูตรตามกฎหมายทั้งนั้น
ป.วิอาญา มาตรา 149 “ การตายผิดธรรมชาติเกิดมีขึ้น ณ ที่ใดให้เป็นหน้าที่ของสามีภรรยา ญาติ มิตรสหาย หรือผู้ปกครองของผู้ตายที่รู้เรื่องการตายเช่นนั้นจัดการดังต่อไปนี้
1. เก็บศพไว้ ณ ที่ซึ่งพบนั้นเองเพียงเท่าที่จะทำได้
2. ไปแจ้งความแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเร็วที่สุด หน้าที่ดังกล่าวในวรรคต้นนั้นมีตลอดถึงผู้อื่นได้ พบศพในที่ซึ่งไม่มีสามีภรรยา ญาติ มิตรสหายหรือผู้ปกครองของผู้ตายอยู่ในที่นั้นด้วย ผู้ใดละเลยไม่กระทำดังที่บัญญัติไว้ ในมาตรานี้ มีความผิดระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท ”
สรุปหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติใน ป.วิอาญามาตรา 149 ในกรณีมีการตายผิดธรรมชาติเกิดขึ้น
ก. การแจ้งความต่อเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจเป็นหน้าที่ของ 1) สามี 2) ภรรยา 3) ญาติ 4) มิตรสหาย 5) ผู้ปกครองของผู้ตาย 6) ผู้ที่พบศพ
ข. เก็บศพไว้ ณ ที่ซึ่งพบศพ เท่าที่จะทำได้
ค. ต้องแจ้งความโดยเร็วที่สุด ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
ป.วิอาญา มาตรา 150 “ ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทำการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้แพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันที และให้แพทย์ดังกล่าวทำรายงานแนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพด้วยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนการชันสูตรพลิกศพ รายงานดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการชันสูตรพลิกศพ และในกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการเมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรพลิกศพโดยเร็วและให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไปตามมาตรา 156
ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนแจ้งแก่ผู้มีหน้าที่ไปทำการชันสูตรพลิกศพทราบ และก่อนการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบเท่าที่ทำได้
ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เป็นผู้ชัน-สูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ตามวรรคหนึ่ง และให้นำบทบัญญัติในวรรคสองมาใช้บังคับ…
มาตรา 150 ทวิ “ผู้ใดกระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป เว้นแต่จำเป็นต้องกระทำเพื่อป้องกันอันตรายแก่อนามัยของประชาชนหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภายในห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในกรณีที่ต้องชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 148 (3) และ (4) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าแพทย์ตามาตรา 150 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มีเหตุจำเป็นไม่สามารถไปตรวจชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุได้ แพทย์ดังกล่าวอาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ผ่านการ อบรมทางนิติเวชศาสตร์ ไปร่วมตรวจชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุในเบื้องต้น แล้วรีบรายงานให้แพทย์ทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการตามมาตรา 150 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไป

ป.วิอาญา มาตรา 151 “ ในเมื่อความจำเป็นพบเหตุการตาย เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ ผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใดหรือจะให้ส่งทั้งศพหรือแต่บางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้ ”
ป.วิอาญา มาตรา 153 “ ถ้าศพฝังไว้แล้วให้ผู้ชันสูตรพลิกศพจัดให้ขุดขึ้นเพื่อตรวจดู เว้นแต่จะเห็นว่าไม่จำเป็นหรือ จะเป็นอันตรายแก่อนามัยของประชาชน ” การขุดศพตรวจใหม่นี้เรียกว่า Exumation
การชันสูตรพลิกศพชาวไทยอิสลาม โดยหนังสือของคณะรัฐมนตรีออกโดยกระทรวงมหาดไทยที่ 387/2500(5) ลงวันที่ 31 ม.ค.2500 ขอให้งดเว้นการผ่าศพชาวไทยอิสลามที่ถูกฆาตกรรม แทงตาย ยิงตายหรือโดยอุบัติเหตุ หรือถึงแก่กรรมโดยมิปรากฏเหตุ เหตุผลเพราะเป็นการทรมานศพ และผิดศาสนาอิสลามอย่างร้ายแรง ทั้งขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการผ่าศพ




การพิสูจน์ตัวบุคคล (Identification)

การพิสูจน์ตัวบุคคลเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดี การพิสูจน์ตัวบุคคลนั้นอาจจะต้องทำ กับคนที่มีชีวิตและคนตาย แต่แพทย์มักจะเกี่ยวกับคนตาย
1. Dead persons คนตาย, ตายใหม่ๆ ตายมาหลายวันแล้ว
2. Multilated remains หรือ disintegrating and decomposing bodies ศพที่ถูกตัดออกเป็นชิ้น ๆ และเน่า
3. Skeletal remains โครงกระดูก
4. Fragmentary remains ชิ้นส่วนของศพ, ความยากง่ายขึ้นอยู่กับการที่ทำลายศพ เช่น ตัดเป็นชิ้น ๆ เอาไปทิ้งน้ำ,ทิ้งเหว, เอาไปเผาไฟ,เอากรดกัด
การพิสูจน์ตัวบุคคล อาจจะต้องใช้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องช่วย
ในกรณีที่เป็นบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
1. สติปัญญา ความจำ และการศึกษา แตกต่างกันตาม I.Q. และระดับการศึกษา
2. ภาษา, การพูด, สำเนียง, ต่างประเทศ, แม้ภาษาไทยก็ยังมีมากแตกต่างกันตามท้องถิ่นการเปลี่ยนแปลงตามโรค, ตามอายุ, อาชีพ
3. กริยา, ท่าทางที่ทำเป็นนิสัย, Tics. ประโยชน์จำกัดได้
4. ลายเซ็น, ปลอม
(1) ทำโดยเอาลายมือจริงมาลอก ฉะนั้นลายมือจริงกับปลอมจึงเท่ากัน
(2) ฝึกหัดเขียนเลียนแบบ
ในกรณีที่เป็นบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่หรือศพ
5. สีผิวหนังแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติ ผิวเหลือง,ผิวขาว,ผิวดำ
6. รูปร่างหน้าตา Feature ความละม้ายคล้ายคลึงกัน หน้าตาคนเราอาจคล้ายกันได้แต่ฝาแฝดเกิดจากไข่ใบเดียวกัน เหมือนกันหมดแม้กลิ่นเหงื่อก็เหมือนกัน สุนัขไม่สามารถดมแยกกลิ่นได้ ยกเว้นลายนิ้วมือคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน
· ข้อควรคิดว่าบางทีคน ๆ เดียวกันอาจหน้าแตกต่างไปได้จากสิ่งแวดล้อม
· การพิสูจน์อาจใช้ภาพถ่าย, ภาพวาด, ภาพเสก็ต ใช้ Kit, ใช้คอมพิวเตอร์
7. ของใช้ส่วนตัว Personal effects เสื้อผ้าและเครื่องหมาย สิ่งของในกระเป๋า กุญแจ ตั๋วจำนำ บัตรประชาชน ฯลฯ เครื่องประดับ เช่น แหวนนามสกุล
8. ร่องรอยอาชีพ Contact or Occupation data ร่องรอยการสัมผัสหรือร่องรอยอาชีพ เช่นคนแบกถุงแป้งมีแป้งติด, นักสีไวโอลินนิ้วด้านเป็นร่องรอยชั่วคราว อาจมีร่อง่รอยถาวร เช่น ช่างไม้ กัดกาปู, หายใจเอาถ่านหินเข้าไปในปอดตามชนิดอาชีพเหมือง
9. Weight น้ำหนัก อ้วน ผอม
10. ความสูง (Height or Stature)
11. เพศ Sex ดูลักษณะอวัยวะเพศ เซลล์ที่แสดงเพศ เซกโครมาตินในหญิงหรือ Y โครโมโซมในชาย
12. การเจริญเติบโต ความผิดปกติที่มีมาแต่กำเนิดเกิดขึ้นภายหลัง(Developmental,Congenital or acquired defects)
· ความไม่เท่ากันของร่างกายและความผิดปกติ (Asymmetry and deformity) เช่น ไฝ ปานแดง
· เกิดทีหลัง เช่น ถูกตัดแขน แขนคอก นิ้วด้าน
· ข้อควรระวังบางสิ่งเหล่านี้อาจจะหายไปได้หรือจางลงจากการผ่าตัด เช่น ไฝ แผลเป็น รอยสัก
13. อายุ (Age) ทารกในครรภ์ใช้ความยาว, การขึ้นของฟันน้ำนม ฟันแท้ , ดูรอยการเกิดของกระดูกและเชื่อมของกระดูกต่าง ๆ ของร่างกาย รอยเชื่อมของกระโหลก อายุมีความสำคัญเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางกฏหมายอาญา และการทำนิติกรรมในกฏหมายแพ่งและกฏหมายอื่นๆ
14. Finger prints,Palm prints,foot print ลายนิ้วมือ ลายฝามือ ลายฝาเท้า
· ดูแบบกันหอย โค้ง มัดหวาย ฯลฯ (Finger print patterns)
· ลายละเอียดของเส้น (Ridge character) เปรียบเทียบกัน 16 จุด
· นอกจากการพิสูจน์ตัวบุคคล อาจนำมาพิสูจน์ความเป็น พ่อ แม่ ลูก ได้
· การพิสูจน์ตัวบุคคลโดยใช้ลายพิมพ์นิ้วมือนี้ดีที่สุดในทางปฏิบัติ เพราะค่าใช้จ่ายถูก
· ลายนิ้วมือไม่มีการเปลี่ยนแปลงนอกจากทำลาย โดยการผ่าตัด
15. ฟัน,ดูเหงือก,ขากรรไกร,ดูการเจริญของฟัน จำนวน,รูปร่างผิดปกติ การอุด การทำสะพานฟัน ฯลฯ โพรงอากาศที่ศีรษะ และของฟัน ร่องรอยเพดานของเหงือก (Palato-print)อุปนิสัย สูบไปพ์ท สูบบุหรี่, กินหมาก,อาชีพจากรอยลึกของฟัน, เชื้อชาติ, เพศ, อายุ, รอยที่ ฟันกัดของ, ฟันชุดเดียวกัน, ปัจจุบันกลายมาเป็นวิชาฟอเรนสิคโอดอนโตโลยี่
ข้อดี
(1) ฟันไม่เน่าเปื่อย
(2) ไฟไหม้ก็ทนไฟได้
16. เส้นผม อาจนำมาพิสูจน์ตัวบุคคล, คดีรถชนแล้วหนี, อาวุธที่ใช้ตี, เส้นผม, ขนที่ติดผู้ตาย, ผู้เสียหาย, หรือผู้ต้องหา ในการนำมาตรวจหาหมู่เลือดเปรียบเทียบ การใช้แอกติเวชั่นแอนนาลัยซิส Neutron Activation Analysis (NAA)เปรียบเทียบแร่ธาตุ, สารบางอย่างที่เป็นพิษ จะพบได้ทุกครั้งที่รับประทาน เช่น As, Pb.
17. เลือด สามารถใช้พิสูจน์ตัวบุคคล โดยการเปรียบเทียบ
(1) หมู่ของเลือด ABO, MN, Rh ฯลฯ และ/หรือ หมู่ของซีรั่ม Hp, Gc, Gm, InV. ฯลฯ
(2) แบบของเอ็นซัยม์ระบบต่างๆ G6PD,6PGD,ADA,P.G.M.ฯลฯ
(3) ชนิดของฮีโมโกลบิน A, E, H, S. ฯลฯ
(4) DNA ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการพิสูจน์ความเป็นพ่อ แม่ ลูก การพิสูจน์ตัวบุคคลวิธีนี้ดีที่สุดในทาง
ทฤษฎีเพราะเปลี่ยนแปลงทำลายไม่ได้ แต่เลวที่สุดในทางปฏิบัติเพราะค่าใช้จ่ายแพงมาก
18. อาศัยความรู้รอบตัวทั่วไปๆ ไปเช่น ประเพณี, ศาสนา, เสื้อผ้าชุดอะไร, ไม้กางเขนใส่วงแหวนที่จมูก, ใส่ปลอกคอ ฯลฯ
19. การทำภาพเชิงซ้อน (Superimposition)เป็นการพิสูจน์ตัวบุคคลโดยการใช้ภาพถ่ายของผู้นั้นกับกะโหลกศีรษะของศพที่มีขากรรไกรล่างอยู่ด้วย ซึ่งเราสงสัยว่าจะเป็นผู้ตายมาถ่ายพร้อมกันโดยอาศัยส่วนที่สำคัญของใบหน้าศีรษะกับกะโหลก ศีรษะและขากรรไกร โดยใช้โทรทัศน์วงจรปิดมาช่วย ถ้ามีสัดส่วนเท่ากันได้ก็มีโอกาสเป็นได้เพียง 50% เท่านั้น นั้นคือ อาจจะใช่และไม่ใช่ นอกเสียจากว่าภาพกับกะโหลกศีรษะและขากรรไกรมีสัดส่วนเข้ากันไม่ได้ จะบอกได้แน่นอน 100% ว่าภาพนั้นไม่ใช่ผู้ตาย

การวินิจฉัยการตาย และ การเปลี่ยนแปลงหลังตาย
การตาย
ตาม ป.แพ่งและพาณิชย์ ม. 15 บัญญัติไว้ว่า "สภาพบุคคลย่อมสิ้นสุดลงเมื่อตาย"
ตาม พรบ. ทะเบียนราษฎร พรบ.2599 ม. 46 กล่าวเพียงว่า คนตายหมายความว่าคนสิ้นชีวิต
ตามหลักวิชาการแพทย์ หมายถึง การหยุดทำงานของ
1. สมอง
2. ระบบหายใจ
3. ระบบไหลเวียนโลหิต
การวินิจฉัยการตาย
ในกรณีจะนำอวัยวะจากศพไปเปลี่ยนให้กับผู้ป่วยอื่น หลังจากหัวใจและการหายใจหยุดทำงานแล้ว คลื่นสมองยัง คงวัดได้อีกระยะหนึ่ง จึงอาจเกิดเรื่องถกเถียงกันและอาจถูกญาติผู้ตายฟ้องร้องได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการประชุมตกลงกัน ระหว่างแพทย์นานาชาติกำหนด Criteria of Death ไว้สำหรับรายที่จะตัดเปลี่ยนอวัยวะไปให้ผู้อื่นโดยตกลงกันดังนี้
การที่จะถือว่า ตาย แล้วและตัดอวัยวะออกไปได้ต่อเมื่อ
1. หัวใจหยุด
2. การหายใจหยุด
3. รีเฟลกซ์ต่าง ๆ ไม่มี
4. ความดันโลหิตลงถึงศูนย์
5. คลื่นหัวใจเป็นเส้นตรงไม่ต่ำกว่า 15 นาที
6. คลื่นสมองเป็นเส้นตรงไม่ต่ำกว่า 15 นาที
ปฏิญญาแห่งซิดนีย์ว่า ในภาวะธรรมดาการตรวจวินิจฉัยทางคลีนิคก็เพียงพอจะบอกว่าตาย แต่กรณีพิเศษเช่น ปลูกอวัยวะควรเชิญแพทย์อีก 2 คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปลูกอวัยวะมาร่วมวินิจฉัยให้ความเห็น ถ้าจำเป็นก็ใช้ EEG ช่วย

การเปลี่ยนแปลงหลังตาย (Changes after death )
1. โดยทันทีหลังตาย ศพจะอ่อนตัวลง กล้ามเนื้อทั่วตัวจะอ่อนอุ่น แขนขาตก
2. การเย็นตัวของศพ (Cooling of the body ) ศพที่เสียชีวิตใหม่ถ้าคลำดูซอกคอ ซอกรักแร้อาจยังรู้สึกอุ่นและจะ เริ่มเย็นลงเรื่อย ๆ จนเท่าอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมภายนอกโดยเฉลี่ยประมาณ 1 องศาฟ.ต่อชั่วโมง วิธีวัดต้องใช้เทอร์โมมิเตอร์ชนิดยาวสอดลึกเข้าทวารหนักประมาณ 4 นิ้วฟุต ทิ้งไว้ราว 5 นาที โดยถือหลักว่าอุณหภูมิร่างกายคนปกติ ราว 37 °c หรือ 98.6 °F ยกเว้น ในรายต่อไปนี้ซึ่งอุณหภูมิจะสูงกว่าปกติราว 1-2 °F ได้แก่พวกที่ตายจากการมีเลือดออกในสมอง, Asphyxia death, Acute infection เช่น Typhoid, Strychnine poisoning ในบางรายผู้ป่วยอาจมีอุณหภูมิลดลงกว่าปกติก่อนตาย เช่น พวกที่ผอมแห้งมาก ๆ (Phthisis), มะเร็ง, Collapse ฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะบอกเวลาตายที่แน่นอนได้ ทั้งนี้เพราะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมด้วย เช่น ศพที่เปลือยหรือแช่ในน้ำย่อมเย็นลงเร็วกว่าปกติ ฉะนั้นการประมาณเวลาตายที่แน่นอน จะไม่ใช่การใช้วิธีใดวิธีหนึ่งตัดสินแต่เพียงอย่างเดียว
3. Rigor Mortis (Postmortem stiffening of voluntary and involuntary muscle) คือการแข็งตัวของศพเกิดหลังจาก ศพอ่อนตัวระยะหนึ่งแล้วเกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงในกล้ามเนื้อ

ในกล้ามเนื้อคนเราจะมีเส้นใยกล้ามเนื้อ 2 ชนิด คือ Actin and Myosin ซึ่งจะประสานกันเล็กน้อยขณะกล้ามเนื้อ คลายตัว และจะประสานาต่อกันมากในขณะกล้ามเนื้อหดตัวโดยอาศัยATP (Adenosine triphosphate) ซี่งมีมากขณะ ยังมีชีวิต หลังตาย ATP ในกล้ามเนื้อจะลดลงจนหมดไป กล้ามเนื้อจะอยู่ในสภาพของ actomyosin ซึ่งเหนียวยืดหดอีกไม่ได้
ไรกอร์มอตีจะเริ่มเกิดที่บริเวณ คางก่อนทำให้ ขากรรไกรแข็งจะตรวจพบหลังตายประมาณ 2 ชั่วโมง
· 1-4 ชั่วโมงต่อมา เกิดการแข็งตัวที่กล้ามเนื้อคอ ลำตัว แขนและขา
· หลังตายแล้วเกิน 6-9 ชั่วโมงขึ้นไป การแข็งตัวของศพนี้จะมี การแข็งเต็มที่
· และจะมีการแข็งทั่วทุกส่วนหลังตายแล้วเกิน 12 ชั่วโมงไปแล้ว
เวลาตรวจศพ เมื่อจับแขน-ขาของศพยกขึ้น จะรู้สึกแข็งไปหมดเคลื่อนไหวได้ยาก การแข็งตัวของศพนี้จะมีอยู่ นานราว 12-18 ชั่วโมง ต่อไปกล้ามเนื้อจะคลายตัวลง การอ่อนหรือคลายตัวของกล้ามเนื้อ (Flaccid) ก็จะเป็นตามลำดับเช่นเดียวกับการแข็งตัว ระยะเวลาที่กล้ามเนื้อทุกแห่งอ่อนตัวกินเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ดังนั้น การอ่อนตัวครั้งที่ 2 จะพบหลังตายประมาณ 36-48 ชั่วโมง
กล้ามเนื้อภายในเช่นกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อกระบังลมก็แข็งตัวได้ การแข็งตัวจะเกิดหลังตายแล้ว 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง
ระยะเวลาของการเกิดไรกอร์มอร์ตีสนี้อาจเกิดเร็วขึ้นได้ในรายที่ออกกำลังมากก่อนตายหรือมีไข้สูงก่อนตาย ในศพ แช่เย็นไรกอร์มอร์ตีสจะเกิดช้าและอยู่นานกว่าอากาศร้อน
การแข็งตัวของศพหลังตายนี้ ต้องแยกจากภาวะการแข็งตัวของศพที่เกิดจากเหตุอื่นคือ
ก. การแข็งตัวของศพเนื่องจากถูกความร้อน (Heat stiffening) เช่น ถูกไฟไหม้ โปรตีนของกล้ามเนื้อจะเกิดแข็งตัว
ข. การแข็งตัวของศพเนื่องจากถูกความเย็น (Cool stiffening) ไขมันใต้ผิวหนังจะแข็งตัวเป็นขี้ผึ้งแข็ง พบได้ชัด ในศพเด็กหรือศพคนอ้วนที่เก็บในตู้เย็นจัด
ค. การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อทันทีหลังตาย (cadaveric spasm)
Cadaveric spasm เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก จะพบเฉพาะบางศพและจะเกิดได้ต้องประกอบด้วย3 องค์ประกอบ คือ
1. สมองต้องตายทันทีและถูกทำลาย
2. ต้องมีการใช้กล้ามเนื้อกลุ่มที่สมองที่ตายทันทีนั้นควบคุมอยู่ ในขณะนั้น
3. ต้องมีความเคร่งเครียดหรือเจ็บปวดอย่างรุนแรง
ตัวอย่างเช่น คนยิงตัวตายโดยจ่อยิงที่ขมับ ผู้ยิงเอามือกำปืน สอดนิ้วเข้าในโกร่งไก งอแขน ยกปืนจ่อขมับ งอนิ้ว เหนี่ยวไกปืน กระสุนแล่นออกทะลุทะลวงถูกศูนย์ 1,3ในสมอง ซึ่งจะตายทันที Cadaveric spasm ที่เกิดขึ้นและมองเห็นก็คือ บุคคลนั้นจะอยู่ในท่างอแขน และกำมือ
5. Livor Mortis (Post mortem lividity or suggillation) เป็นรอยจ้ำสีชมพูที่ตกอยู่ทางส่วนล่างของศพ เนื่องจากแรงดึงดูดของโลก บางรายช่วยชี้สภาพของศพได้เช่น ศพที่แขวนคอตายจะพบ suggillation ชัดที่ส่วนบ่างของร่างกาย, บางรายช่วยให้รู้ว่า มีการเคลื่อนย้ายศพหลังตายหรือไม่
โดยปกติ ไลวอร์มอร์ตีส จะเริ่มปรากฎหลังตายประมาณ 1 -2 ชั่วโมง (ซึ่งถ้าไม่สังเกตอาจไม่เห็น) และเพิ่มขึ้นเห็นชัดเจนทั่วไปใน 12 ชั่วโมง (ยกเว้นพวกที่โลหิตจางจะเกิดช้ากว่านี้) ไลวอร์มอร์ตีสที่มีสีชมพูสดพบได้ในรายที่ตายจากพิษคาร์บอนโมนอกไซด์ ไซยาไนด์ สีของไลวอร์มอร์ตีสจะเปลี่ยนเมื่อศพเริ่มเน่า ในศพที่ยังไม่เน่าเราพอแยกได้ว่าเป็นSuggillation หรือ antemortem contusion
บริเวณที่เกิดไลวอร์มอร์ตีสนี้ ถ้าหากมีบางส่วนที่กดทับอยู่ทำให้ผิวหนังส่วนนั้นบุ๋มเข้าไปส่วนนั้นจะเป็นสีขาว เพราะเม็ดเลือดจะกระจายไปอยู่ในส่วนที่ต่ำกว่า ตัวอย่างเช่น รอยกดจากเสื้อยกทรง รอยเข็มขัด ไลวอร์มอร์ตีสที่มีสีเทาคล้ำ มักพบในรายที่ตายจากการขาดอากาศ
ไลวอร์มอร์ตีสยังเกิดที่อวัยวะภายในด้วย
6. การเน่าของศพ ถ้าไม่มีการรักษาศพโดยวิธีการต่าง ๆ แล้ว ส่วนใหญ่ศพจะเน่าโดย
ก. ระยะแรกหลังเซลล์ตายจะเกิดการสลายตัว
ข. ระยะสอง จากแบคทีเรียจากลำไส้เข้าในอวัยวะต่าง ๆ
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นก่อน คือ ผนังหน้าท้องส่วนล่างมีสีม่วงปนเขียว ประมาณ 24 ชั่วโมง หลังตายศพจะเริ่มเน่า เห็นได้ชัด ถ้าอากาศร้อนจะเน่าเร็วกว่านี้ ผิวหนังเริ่มลอกหลังตาย 36-48 ชั่วโมง เมื่อศพเน่าเต็มที่จะเกิดแก๊ส ลิ้นจุกปาก แขนขากาง ตาถลน ผิวหนังบวมเป่ง อัณฑะบวม หลังตาย 72 ชั่วโมงจะเน่าเต็มที่ มีกลิ่นเหม็นมาก น้ำเหลืองเยิ้ม (หลังศพเน่าเต็มที่แล้วเราจะประมาณเวลาตายได้ยากทั้งนี้เพราะเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิและความชื้นของอากาศด้วย)
ลำดับการเน่าของศพก่อนหลังดังนี้ เริ่มด้วยลำไส้เริ่มก่อนเพราะมีแบคทีเรียมาก เนื้อสมองจะเละ ปอดนุ่มมีน้ำเต็ม ตับจะพรุนเนื่องจากผลการสลายตัวทำให้เกิดแก๊ส ม้ามนุ่มเปื่อย อวัยวะที่เน่าช้า ได้แก่ มดลูก, ต่อมลูกหมาก
· หลังตาย 2-3 สัปดาห์ พวก Abdominal viscera จะเหลวเละกลายเป็นของเหลว
· จะเหลือแต่กระดูกใน 2-3 เดือนต่อมา
· กินเวลาหลายปี ที่กระดูกจะผุหมด
การเน่าของศพจะเร็วช้าขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของอากาศด้วย ถ้าร้อนก็ทำให้เน่าเร็ว ศพคนอ้วนมีไขมันมากเน่าเร็วกว่าศพคนผอม, ศพเด็กเน่าเร็วกว่าศพผู้ใหญ่, ศพที่ตายจากโรคติดเชื้อเน่าเร็ว, ศพบนดินเน่าเร็วกว่าศพที่ถูกฝังลึก ๆ ใต้ดิน, ศพที่โรยปูนขาวไว้เน่าช้ากว่าที่ไม่ได้โรย
ฉะนั้นการคาดคะเนเวลาตายให้แน่นอนสำหรับศพที่เน่าแล้วจึงทำให้ยาก ทั้งนี้เพราะเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ดังกล่าวแล้วเป็นต้น มีส่วนน้อยมากที่ศพไม่เน่าตามธรรมชาติ ได้แก่
1. ศพแห้งไปเฉย ๆ เรียก Mummification เกิดจากอากาศร้อนและแห้งมาก มีความพอเหมาะพอดีระหว่างสภาพศพกับสิ่งแวดล้อม เป็นศพของคนผอม ไม่มีไขมัน, อยู่ในสภาพที่แบคทีเรียเจริญได้ยาก สภาพศพคล้ายมัมมี่พบได้น้อย แบบนี้ยากที่จะ ประมาณเวลาตายได้แน่นอน
2. การแข็งตัวของไขมัน (Adipocere) โดยปกติศพที่เน่าแล้วไขมันจะแข็งตัวเป็นขี้ผึ้งสีขาวร่วน พบในศพที่ฝังใน ที่อากาศชื้นและมีอุณหภูมิค่อนข้างเย็น ในเมืองไทยยังไม่เคยพบแบบหลังนี้

7. เราอาจประมาณเวลาตายจากการทำงานของอวัยวะบางระบบได้ เช่น
ก. กระเพาะอาหาร ผ่าตรวจพบมีอาหารเต็มในกระเพาะโดยสภาพอาหารยังไม่เปลี่ยน บอกได้ว่าเวลาตายน่าจะ ใกล้เคียงกับระยะเวลาอาหารมื้อสุดท้าย อาหารผสมปกติจะย่อยหมดใน 2-8 ชั่วโมง
ข. กระเพาะปัสสาวะ ผ่าตรวจพบว่าไม่มีปัสสาวะเลยแสดงว่าผู้ตายตายภายหลังถ่ายปัสสาวะครั้งสุดท้ายไม่นาน ถ้าตายตอนกลางคืนก็น่าจะเป็นตอนหัวค่ำ เพราะคนปกติมักจะถ่ายปัสสาวะก่อนเข้านอน เป็นต้น
สรุป ในการตัดสินเวลาตายนั้นต้องอาศัยหลักต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณา รวมทั้งต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมอื่น ๆ

บาดแผล ( WOUND )

บาดแผล ( WOUND ) หมายถึง การที่ผิวหนังของร่างกายส่วนในส่วนหนึ่งได้รับอันตราย อาจเกิดการคั่งของเลือดหรือผิวหนังแยกออกจากกัน ซึ่งเกิดจากได้รับแรงกระแทก ดังนั้นบาดแผลจึงมีความสำคัญเพราะเป็นผลจากการรับการกระทบ กระแทก ในทางกฎหมายบาดแผลอาจเป็นหลักฐานที่แสดงว่ามีการทำร้ายกัน แสดงถึงเจตนาของผู้ทำร้าย ประเภทหรือ ชนิดของอาวุธที่ใช้ในการทำร้ายด้วย
ชนิดของบาดแผล
ในทางนิติเวชศาสตร์ แบ่งบาดแผลตามสาเหตุที่เกิดและตามลักษณะของบาดแผลเองออกเป็น 6 ชนิด คือ
1. บาดแผลถลอก (Abrasion) เป็นบาดแผลที่เกิดที่ผิวหนังชั้นต้น โดยการฉีกขาดของหนังกำพร้า ปรากฎมีลักษณะ เป็นขุยสีขาวที่ผิวหนัง และอาจมีน้ำเหลืองหรือเลือดซึมออกมา ภายหลัง 24 ชม.ไปแล้ว ถ้าไม่มีการติดเชื้อจะกลายเป็นสะเก็ดสีน้ำตาบแข็งและแห้ง ถ้ามีการติดเชื้อหรืออักเสบจะมีหนองเป็นคราบสีเหลืองติดอยู่ และจะเป็นน้ำแฉะ ๆ เยิ้มที่แผล
ในศพบาดแผลถลอกจะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาล ผิวหนังบริเวณนั้นจะแห้งและแข็งกว่าที่อื่นเพราะเป็นบริเวณที่น้ำ ในร่างกายระเหยออกไปได้มากกว่าที่อื่น
สาเหตุของบาดแผลชนิดนี้เกิดจากการเสียดสีระหว่างผิวหนังกับของแข็งที่หยาบ หรืออาจจะเกิดจากการขีดข่วน ของของแหลมได้, ถ้าเกิดจากการขีดข่วนจากของแหลม รอยถลอกจะมีลักษณะเป็นเส้นหรือแนว
2. บาดแผลฟกช้ำ (Contusion or Bruise) เป็นบาดแผลที่เกิดจากการฉีกขาดของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้เลือดออกแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ถ้าเลือดออกมากและขังรวมกันเป็นก้อนก็เรียกว่า ก้อนเลือด (Hematoma) ใต้ผิวหนัง ลักษณะของบาดแผลฟกช้ำจะ มีรอยสีแดง แดงปนม่วงหรือสีเขียวอ่อนชั้นบนของผิวหนัง อาจมีแผลถลอกร่วมด้วย จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งของร่างกาย บางส่วนของร่างกายที่มีผิวหนังชั้นนอกหนามาก เช่น ฝ่ามือ, ฝ่าเท้า จะทำให้เห็นแผลฟกช้ำไม่ชัดเจน แต่บริเวณหน้าตา โหนกแก้ม คาง หน้าผาก มีผิวหนังบางร่วมกับ มีกระดูกรองรับทำให้เกิดลักษณะฟกช้ำง่ายและเห็นได้ชัด
3. บาดแผลถูกแทง (Stab Wound) เป็นบาดแผลที่มีการฉีกขาดขอบเรียบของผิวหนังเป็นรูลึกลงไป ทำให้อวัยวะภายในได้รับอันตรายมักเป็นแผลที่มีความลึกมากกว่าความยาวของแผล รูปร่างของบาดแผลถูกแทงจะมีลักษณะเช่นเดียวกับอาวุธ
สาเหตุเกิดจากการทิ่มแทงของของแข็งที่มีลักษณะเป็นแท่ง
4. บาดแผลฉีกขาดขอบเรียบ (Cut or incised Wound) เป็นบาดแผลที่มีลักษณะการฉีกขาดของผิวหนัง โดยขอบ ของบาดแผลนั้นมีลักษณะเป็นแนวเรียบ และผิวหนังขาดทุกชั้น แผลอาจลึกจากผิวหนังลงไป ทำให้กล้ามเนื้อและเยื่อเกี่ยวพันขาดเป็นรอยเรียบเช่นเดียวกัน ถ้าแผลยาวลึกจะอ้ากว้างขึ้น
สาเหตุเกิดจากของมีคมตัดหรือเชือด ในตำราบางเล่มเรียกว่าบาดแผลถูกของมีคม การเรียกเช่นนั้นเรียกตามลักษณะอาวุธ ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาว่าของมีคมนั้นต้องคมขนาดไหนของที่ไม่มีคม เช่น ขอบกระจกก็ทำให้เกิดบาดแผล ขอบเรียบได้ ดังนั้นการเรียกตามลักษณะบาดแผลว่าบาดแผลฉีกขาดเรียบจะหมดปัญหาเพราะลักษณะของบาดแผล จะนำไปสู่การให้ความเห็นว่าบาดแผลประเภทนี้เกิดจากอะไรได้บ้าง
5. บาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบ (Lacerated Wound) เป็นบาดแผลผิวหนังขาดที่มีลักษณะขอบแผลกระรุ่งกระริ่ง หรือแผลไม่เรียบ แผลอาจลึกจากผิวหนังลงไปทำให้กล้ามเนื้อและเยื่อเกี่ยวพันฉีกขาด
สาเหตุเกิดจากถูกของแข็งไม่มีคมกระแทกทำให้ผิวหนังขาด เพราะผิวหนังถูกดึงให้ตึงมากจนขาด ถูกบดหรืออัดด้วยของหนัก ผิวหนังถูกของที่ไม่ค่อยคมตัด เช่น เลื่อย เป็นต้น
ในตำราบางเล่มเรียกบาดแผลชนิดนี้ว่าบาดแผลถูกของแข็ง คือเรียกตามวัตถุที่เป็นสาเหตุ ซึ่งอาจทำให้มีปัญหา
6. บาดแผลถูกกระสุนปืน (Gunshot Wound) ความจริงบาดแผลชนิดนี้เป็นบาดแผลเป็นรูลึกเข้าไปในร่างกาย (Penetrating Wound) นั่นเอง แต่มีลักษณะพิเศษอีกหลายอย่าง ถ้าจะเรียกตามลักษณะบาดแผลว่าแผลเป็นรู ก็ทำให้คิดว่า จำพวกเดียวกับแผลถูกแทง ดังนั้นจึงจำต้องเรียกตามวัตถุที่เป็นสาเหตุ

การตรวจและบันทึกบาดแผล
ต้องพิจารณาตามหัวข้อต่อไปนี้
1. ชนิด
2. จำนวนของบาดแผล
3. ตำแหน่ง
4. รูปร่าง
5. ขนาด
6. ความลึกและทิศทางของบาดแผล
7. สิ่งที่ติดมากับแผล
8. สภาพของบาดแผล
การประมาณเวลาจากบาดแผล อาจแบ่งวิธีดูได้ 4 วิธี ได้แก่
1. ดูจากการเปลี่ยนแปลงภายนอก
ก. บาดแผลจะหายเร็วหรือหายช้านั้นขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ซึ่งพอจะประมาณเป็นหัวข้อได้ดังต่อไปนี้
1. อายุของผู้เกิดบาดแผล ถ้าอายุมากย่อมหายช้า
2. ร่างกายไม่แข็งแรง หายช้า
3. เป็นโรคเบาหวาน หายช้า
4. แผลมีขนาดกว้าง ย่อมหายช้า
5. แผลเกิดอักเสบ ย่อมหายช้า
6. ผู้มีบาดแผลรับประทานอาหารไม่ถูกส่วนไม่ครบ 5 หมู่ ย่อมหายช้า
7. ภูมิคุ้มกันของผู้มีบาดแผลไม่ดี ย่อมหายช้า
บาดแผลถลอกขณะเกิดบาดแผลจะเป็นสีแดงสด 12 - 24 ชั่วโมงหลังจากเกิดบาดแผล น้ำเหลืองจะแห้ง แผลเริ่มตกสะเก็ดเป็นสีแดง 2-3 วัน สะเก็ดเปลี่ยนสีเป็นสีแดงปนน้ำตาล, 4-7 วัน เซลล์ของหนังกำพร้าเริ่มเจริญ เติบโตจากขอบแผลด้านนอกพร้อมกับสะเก็ดหลุดออก
บาดแผลฟาช้ำ แรกเกิดเป็นสีช้ำแดง 1 วัน รอยช้ำเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินปนม่วง 2 - 4 วัน รอยช้ำเปลี่ยนเป็น สีน้ำเงินปนดำหรือน้ำตาล, 5 - 7 วัน มีสีเขียวปน ,7 - 10 วัน มีสีเหลืองปน สีที่เกิดขึ้นค่อยจางหายไป , 11 - 15 วัน
ผิวหนังกลับสู่สภาพปกติ
แผลฉีกขาดที่สะอาด 12 ชั่วโมง ขอบแผลจะบวมแดง, 24 ชั่วโมง แผลขนาดเล็กอาจเกิดสะเก็ด, 36 ชั่วโมง ผิวหนังกำพร้าที่ฉีกขาดเริ่มเจริญเติบโตขึ้นที่ขอบแผล, 4 - 7 วัน ผิวหนังกำพร้าเริ่มประสานตัว, 7 - 14 วัน เกิดเป็น แผลเป็น
แผลฉีกขาดที่ไม่สะอาด จะมีการอักเสบเกิดขึ้น การหายของบาดแผลย่อมนานกว่าแผลที่สะอาด นอกจากผู้ได้
รับอันตรายได้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ บาดแผลจึงจะหายได้เร็วใกล้เคียงกัน แผลฉีกขาดที่สะอาด
2. วิธี Histological เป็นการดูการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ สามารถประมาณเวลาได้ เพื่อศึกษาภายใน 12 ชั่วโมง หลังการบาดเจ็บ
3. วิธีทาง Histochemical เป็นการดูจากการเปลี่ยนแปลงของเอนไซม์ ในเนื้อเยื่อ ได้แก่ ATPase, Esterase, Acid Phosphatase, Alk Phosphtase สามารถบอกเวลาละเอียดภายใน 4 ชั่วโมงแรกหลังได้รับบาดเจ็บ
4. วิธีทาง Biochemical เป็นการดูจากชีวเคมีสารในร่างกายบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ สามารถศึกษาภายในเวลา 1 ชั่วโมง ภายหลังได้รับบาดเจ็บ ได้แก่ สาร Histamine, Seretonin
วิธีที่ยาวนานกว่า 24-48 ชั่วโมงแล้ว จะไม่สามารถนำค่าเหล่านี้มาแปรผลได้

การตรวจบาดแผล
จะต้องพิจารณาตามหัวข้อต่อไปนี้
1. ชนิด
2. จำนวนของบาดแผล
3. ตำแหน่ง
4. รูปร่างของบาดแผล
5. ขนาด
6. ความลึกและทิศทางของบาดแผล
7. สิ่งที่ติดมากับบาดแผล
8. สภาพของบาดแผล
9. สิ่งแปลกปลอมในบาดแผล
10. สภาพเครื่องนุ่งห่มที่สัมพันธ์กับบาดแผล
เมื่อพิจารณาบาดแผลแล้ว จะต้องพยายามคิดถึงและแยกประเด็นเหล่านี้ คือ
1. พฤติกรรมการตายว่าเป็นอุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย หรือถูกฆ่าตาย
2. ใช้อาวุธอะไร
3. บาดแผลเกิดก่อนตาย หรือเกิดหลังตาย
4. บาดแผลบ่งว่าเป็นการกระทำโดยเจตนา ประมาท หรือความผิดปกติทางเพศ
บาดแผลแสดงถึงพฤติกรรมการตาย
บาดแผลที่แสดงถึงกระทำนั้นพิจารณาได้จาก
1. ตำแหน่งของบาดแผล
1.1 บาดแผลฆ่าตัวตายมักจะกระทำในท่าที่ถนัด เช่น ยิงตัวตายในคนถนัดมือขวามักยิงขมับขวาหรืออมเข้า ปาก ถ้าใช้มีดเชือดหลอดเลือดบริเวณข้อมือ และแผลเชือดบริเวณข้อมือมักปรากฎหลายแผล เป็นแผลที่เกิดจากการลังเล ใจ (Hestitation mark) หรือเกิดจากการทดสอบ
1.2 บาดแผลบริเวณหลัง เป็นตำแหน่งที่ไม่สามารถทำตนเองได้ มักเกิด จากถูกทำร้าย
1.3 บาดแผลบริเวณแขนทั้งสองข้างแสดงถึงการปัดป้องการป้องกันตัว
2. จำนวนและความรุนแรง ของบาดแผล
2.1 แผลที่ทำตนเองที่อวัยวะสำคัญส่วนมากจะทำได้ครั้งเดียว เช่น ฆ่าตัวตายโดยใช้ปืนยิงศีรษะ โดยทั่วไป บาดแผลที่เกิดจากกระสุนปืนที่ศีรษะจะทำให้ผู้นั้นไม่สามารถทำตนเองอย่างใดต่อไม่ได้อีก (ยกเว้นกระสุนปืนไม่เข้าใน สมอง)
2.2 แผลที่รุนแรงมากย่อมเกิดจากการทำตนเองได้ยาก เช่น คอขาดจากของมีคม กระโหลกศีรษะถูกของมี คมอ้า เช่นนี้เป็นต้น
บาดแผลแสดงถึงอาวุธ
จากลักษณะของบาดแผลที่ปรากฎอาจแสดงถึงอาวุธที่ทำให้เกิดบาดแผลนั้นได้ ลักษณะต่าง ๆ ของบาดแผลได้แก่
1. ชนิดของบาดแผล ที่ได้กล่าวมาแล้ว
2. รูปร่างของบาดแผล รูปร่างต่างๆ ของบาดแผลจะทำให้ทราบประเภทของอาวุธได้ เช่น
2.1 แผลฟกช้ำรูปกลม จะเกิดจากวัตถุซึ่งแข็งที่มีลักษณะเป็นวงกลมในส่วนที่ กระแทกกับผิวหนัง เช่น ฆ้อน
2.2 แผลถูกแทงรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า จะเกิดจากอาวุธประเภทตะไบ หรือ เหล็กขูดชาร์ป เป็นต้น
2.3 แผลถูกแทงรูปสามเหลี่ยมชายธง จะเกิดจากอาวุธประเภทมีดปลายแหลม
2.4 แผลถูกแทงรูปรีหรือรูปกระสวย จะเกิดจากอาวุธประเภทมีดสองคม
3. ขนาดของบาดแผล ขนาดของบาดแผลจะบอกขนาดของอาวุธได้ ดังนี้
3.1 ความลึกของบาดแผลถูกแทง จะเท่ากับความยาวของอาวุธในส่วนที่เข้า ไปในร่างกาย
3.2 ความยาวของบาดแผลถูกแทง จะเท่ากับหรือโตกว่าความกว้างของอาวุธ
3.3 ความกว้างของบาดแผลถูกแทง จะเท่ากับความหนาของอาวุธ
3.4 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของบาดแผลถูกกระสุนปืนลูกโดดจะเท่ากับขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของหัวกระ สุน หรือเล็กกว่าเล็กน้อย
บาดแผลเกิดก่อนตายหรือภายหลังตาย เป็นบาดแผลที่ดูได้ไม่ยากนักสำหรับบาดแผลที่เกิดขึ้นก่อนตายเป็นเวลา นาน แต่จะเป็นปัญหาที่ยากในรายที่เกิดภายหลังตายทันที หรือขณะกำลังจะตาย อาศัยหลักที่ว่าเซลล์ และเนื้อเยื่อของ ผิวหนังของคนมีชีวิตมีความจำเป็นจะต้องได้รับเลือดมาเลี้ยงอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อร่างกายได้รับอันตรายเป็นบาดแผลขึ้น ย่อมมีปฏิกิริยาของเซลล์ดังกล่าวปรากฎ ให้เห็นเป็นลักษณะแผลช้ำแดง
จากสาเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จะสามารถทำให้เราทราบว่าบาดแผลที่ผู้ตายนั้นเกิดขึ้นขณะผู้ตายยังมีชีวิตอยู่หรือ ตายแล้ว
บาดแผลแสดงเจตนาของผู้ทำร้าย
1. บาดแผลที่แสดงเจตนาฆ่า ต้องพิจารณาถึงอาวุธ ตำแหน่งและจำนวนบาดแผล
2. บาดแผลที่แสดงถึงการฆ่าโดยทารุณโหดร้าย การฆ่าด้วยความทารุณโหดร้ายเป็นการฆ่าที่มีโทษสูง คือ มีโทษ ประหารชีวิตสถานเดียว

บาดแผลกระสุนปืน (Fire Arm Wound)
กลไกที่ทำให้เกิดบาดแผล (Mechanics of Bullet Wounds Production)
กลไกของการที่ทำให้เกิดบาดแผลจากอาวุธปืนนั้น ขึ้นอยู่กับ
1. ความเร็ว รูปร่าง ขนาดของกระสุนปืน
2. การเคลื่อนไหว ขณะที่ออกจากปากกระบอกปืน
3. ลักษณะของผิวหนัง
4. ความหนาของผิวหนัง
5. แรงที่กระทำโดยตรงต่อผิวหนังและเนื้อเยื่อ
เมื่อพิจารณาจากกลไกข้างบนแล้ว จะเห็นว่ากระสุนปืนมีขนาดใหญ่ความแรงย่อมมาก ปากกระบอกปืนยาวจะ ช่วยให้ลูกกระสุนปืนวิ่งตรงทางได้มากขึ้น และสนับสนุนให้เกิดความเร็วต้นสูงและแรงปะทะยังเป้าได้ดีด้วย เมื่อยิงปืน สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือความร้อน (Flame) แก๊ส (Smoke)และสิ่งที่เผาไหม้ไม่หมด (Unburned Particle) หรือ Slippling หรือ tattooing หรืออาจเรียกสั้นๆ เพื่อการจำได้ง่าย ก็คือ B.B.T. คือ Burning,Blackening,Tattooingและเมื่อยิงปืนโดยปากกระ บอกอยู่ระหว่างผิวหนังกับภายในแขนเอื้อม (Arm-Reach) จะปรากฎลักษณะ B.B.T. ให้เห็น ซึ่งในคนไทยเราค่าเฉลี่ย ประมาณ 18"
1. เมื่อยิงโดยปากกระบอกปืน ประชิดผิวหนัง(contact) จะปรากฎลักษณะฉีกขาดเป็นรูปดาวหรือรูกลมโพรงโต เนื่องจากแก๊สผลักดันให้ผิวหนังฉีกขาดเขม่าดำจะเข้าไปอยู่ภายในใต้ผิวหนัง แผลทางเข้าใหญ่กว่าทางออก พบรอยไหม้ (burning) รอบๆแผลทางเข้า
2. ยิงโดยปากกระบอกปืนประชิดผิวหนังแบบหลวมๆ(loose contact)แผลทางเข้า (Entry wound) จะฉีกขาดเป็น รูปดาว (Star shape) ขอบแผลจะมีเขม่าดำที่เรียกว่าBlackening แผลทางเข้าจะใหญ่กว่าทางออก อาจพบรอยไหม้ รอบๆ แผลทางเข้า
3. ปากกระบอกปืนห่างออกมา 2"-6" พบลักษณะ blockening(เขม่าดินดำ) รอบ ๆแผลทางเข้าลักษณะแผลทางเข้าจะ กลมและมีขนาดเล็กกว่าแผลทางออก
4. ปากกระบอกปืนห่างจากผิวหนังมา 4"-18" ในปืนสั้นทั่วไปจะปรากฎจุดสีชมพูปนม่วง กระจายเข้าไปในผิวหนังรอบ แผลทางเข้าที่เราเรียกว่า tattooing โดยที่ปากกระบอกอยู่ใกล้ผิวหนัง จะไม่พบ tattooing ทางเข้าจะมีลักษณะกลม ทางออกจะมีขนาดใหญ่กว่าทางเข้าทั้งนี้เนื่องจากกระสุนปืนหมุนแบบควงสว่านเพื่อดันสิ่งต้านทาน จึงทำให้แผลทางออก เปิดอ้าออก ระยะที่เกินแขนเอื้อมนี้ในแง่ของนิติเวชศาสตร์ เราเรียกว่าถูกยิงในระยะห่าง(Distant shot)
การพิจาณาทางเข้าและทางออก
จากบาดแผลทางเข้าถึงบาดแผลทางออก บาดแผลทางเข้าที่กระดูก เช่นกระดูกกะโหลกศีรษะขอบทางเข้าจะเรียบ ขนาดอาจเท่าหรือใหญ่กว่าขนาดจริงของกระสุนปืนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแรงและเร็วที่ลูกกระสุนปืนผ่าน ทางออกของกระสุน ปืนที่กระดูกกะโหลกศีรษะด้านในจะมีลักษณะของกระดูกเปิดอ้าที่เรียก"Bevelled inward" ส่วนทางออกที่กระดูก
พิจารณาทางผ่านกระสุนปืนที่อวัยวะภายในที่มีผิวหนังเรียบ เช่น Liver,Kidney spleenสามารถบอกทางเข้า ทางออกได้เช่นเดียวกับที่ผิวหนัง
สรุปตำแหน่งที่คาดคะเนขนาดยาก หรือไม่สามารถบอกขนาดได้
1. แผลแยก (split of skin )
2. ตำแหน่งที่ผิวหนังยืดตัวได้มาก (stretched skin area)เช่น หนังตา รักแร้
3. แผลครูด เช่น ที่หนังศีรษะ (Graze)
4. แผลที่มีเลือดออกเซาะใต้แผล

การตายจากสาเหตุการขาดอากาศหายใจ

จมน้ำตาย (Drowning)
การตรวจศพภายนอก
- จะพบลักษณะฟองน้ำปรากฏที่ปาก และจมูก ในบางราย
- เขียวคล้ำที่บริเวณริมฝีปากและเล็บมือทั้งสองข้าง
- ผิวหนังที่มือเท้าจะเหี่ยวย่นซีด แสดงถึงการแช่อยู่ในน้ำ

การตายเนื่องมาจากถูกรัดคอ (Strangulation)
- พบได้บ่อยในคนสูงอายุและหญิงสาว มักจะเกิดขึ้นจากการปล้นชิงทรัพย์และข่มขืน สภาพศพโดยทั่วไปนอกจากจะ พบสิ่งที่ตรวจพบ 3 อย่างดังกล่าวแล้วอย่างมาก เนื่องจากมีการต่อสู้ดิ้นรน ดังนั้นแรงที่มากระทำย่อมแรงกว่าธรรมดา
- ตรวจพบร่องรอยต่าง ๆ ที่คอ เช่น รอยรัดจากหน้าไปหลังตรงกลางกระดูกลูกกระเดือก
- พบร่องรอยการต่อสู้ เช่น รอยเล็บแถวคอ เล็บหักหลุดหรือสังเกตให้ดี อาจพบหนังกำพร้าติดอยู่ บริเวณเล็บได้
ฆ่าตัวตาย ถูกฆ่า อุบัติเหตุ
- ถูกรัดคอตาย หรือรัดคอตัวตายเอง ต้องพิจารณาแยกจากกันให้ได้โดยจะต้องพิจารณาจากประวัติ สถานที่เกิด เหตุมูล เหตุจูงใจ บาดแผลร่องรอยการต่อสู้ และอื่น ๆ
แขวนคอตาย
ทฤษฎีของการแขวนคอตาย
ฮอฟแมนและบรูอาเดล ได้ร่วมกันทดลองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1897 และแสดงตัวเลขให้เห็นว่าใช้น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม (4.4 ปอนด์) จะสามารถถูกกดหลอดเลือดดำจักกูลาร์ที่คอได้พอดี ส่วนรอยเตอร์ ได้ทำการทดลองเช่นกันในปี ค.ศ. 1901 ได้ชี้ให้เห็นว่า 3.5 กิโลกรัม จะกดหลอดเลือดแดงใหญ่คาโรติดที่คอ 16.16 กิโลกรัม จะกดหลอดเลือดแดง ใหญ่เวอรติบรัล
ถ้าพิจารณาเฉพาะน้ำหนักอย่างเดียวจะเห็นว่าใช้น้ำหนักน้อยมากเพียงประมาณหนึ่งในสามส่วนของน้ำหนักตัว คนก็เพียงพอแล้ว เพราะเพศหญิงที่ผอมจะมีน้ำหนักประมาณ 45 กิโลกรัมเท่านั้น
กลไกที่ทำให้ตายจากการแขวนคอ
เป็นผลที่เกิดขึ้นร่วมกันดังต่อไปนี้
1. ประสาทเส้นที่สิบที่มีชื่อว่าวากัส (Vagus Nerve) ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับเส้นเลือดแดงใหญ่คาโรติดที่คอถูกกด มีผลทำให้หัวใจเต้นเร็ว และหยุดเต้นในที่สุด
2. สมองขาดอ๊อกซิเจน เป็นผลจากเส้นเลือดดำจักกูลาร์ (Jugular) ถูกกดมากกว่าเส้นเลือดแดง เนื่องจากอยู่ ตื้นกว่า ทำให้เพิ่มความกดดันในสมอง จนกระทั่งหมดสติ
3. ขาดอากาศ เป็นผลจากเยื่อบุกล่องเสียงลิ้นไก่และลิ้นปิดทางเดินหลอดลมซึ่งทำให้เวลาที่ตายเกิดจากแขวนคอ นี้รวดเร็วมากประมาณ 45 วินาที ถึง 60 วินาทีเท่านั้น จะทำให้หมดสติ และจะตายในเวลาอันสั้นต่อมา บางคนอาจ ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงทีในช่วงกำลังจะหมดสติ หรือหมดสติไปใหม่ ๆ อาจฟื้นคืนสติมาได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความ แข็งแรงของร่างกายของผู้นั้นด้วย ท่าที่ใช้ในการแขวนคอ มีทั้งหมด 5 ท่า
การตายด้วยเหตุทางกายภาพ
ไฟฟ้า
สภาพศพภายนอก สภาพศพโดยทั่วไปจะพบมีรอยไหม้ซึ่งเป็นทางเข้าของกระแสไฟฟ้าตามฝ่ามือ แขน ลำตัว ส่วนทางออกที่ฝ่าเท้านั้นพบได้น้อยกว่า ทั้งนี้เนื่องจากฝ่าเท้ามีหนังที่หนาและอาจเกิดความชิ้น ทำให้กระแสไฟฟ้ากระจาย ตามผิวหนังมากนั่นเองประกอบกับรูปร่างลักษณะของรอยไหม้ขึ้นอยู่กับขนาดของวัตถุนั้น ๆ ที่พบบ่อย และลำตัว จะพบ ลักษณะแผลไหม้เป็นรูปยาวรี พิจารณาให้ดีบางรายจะพบเศษที่ติดอยู่กับพลาสติกที่ใช้หุ้มสายไฟติดมาด้วย บางราย กระแสไฟฟ้า จะผ่านด้วยสื่อที่เป็นวัตถุจำพวกโลหะอาจปรากฏเศษโลหะเล็ก ๆ ฝังอยู่ที่ผิวหนังตรงแผลทางเข้าไม่ สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ แต่สามารถตรวจหาโลหะต่าง ๆ โดยวิธีเคมีได้
ความร้อน
อันตรายที่ได้รับจากความร้อนเกิดจากไฟและน้ำร้อน ปฐมเหตุของไฟไหม้นี้จะเริ่มตั้งแต่ ขน ผิวหนัง ชั้นใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูก ส่วนน้ำร้อน ผิวหนังจะพองแดง แต่ไม่ทำให้ขนหรือผิวหนังไหม้ตามไปด้วย
อันตรายของความร้อน
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของบาดแผลมากน้อยเท่าใด ถ้าหากไหม้ลามไปกว้างและลึกมากอาการก็ย่อมมีมากลักษณะ โดยทั่วไปแล้วถ้าไหม้ใน 2-3 ส่วนของผิวหนังอาจถึงแก่ความตายในผู้ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรงได้
ส่วนเด็กต้องไหม้ถึง 50 % คนสูงอายุ 20 % เท่านั้นอาจได้รับอันตรายถึงแก่ความตายได้ ระยะของการไหม้แบ่งออก เป็น 3 ระยะ คือ
1. ผิวหนังชั้นนอกสุดจะมีการอักเสบแดง
2. ผิวหนังจะเกิดตุ่ม พอง มีน้ำใส ๆ อยู่ข้างในยังอยู่แค่ชั้นผิวหนังภายนอกเมื่อหายแล้วจะไม่เกิด แผลเป็น
3. ไหม้ลึกถึงชั้นใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูก

อาชญากรรมทางเพศ (SEX CRIME)

ความผิดเกี่ยวกับเพศ มีบัญญัติไว้ในประมวลกฏหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 9 ตั้งแต่มาตรา276 ถึงมาตรา 287 ลักษณะ 11 มาตรา 317-319 เกี่ยวกับความผิดต่อเสรีภาพ และในลหุโทษมาตรา388 นอกจากนั้นยังมีพระราชยัญญัติปราม การค้าประเวณี พ.ศ. 2503 อีกด้วย
ความผิดเกี่ยวกับการชำเรา
ความผิดในกลุ่มนี้ได้แก่ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราและความผิดฐานชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 13 ปี ดังบท บัญญัติต่อไปนี้
ป.อาญา ม.276 "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตน โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประ ทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดชืนได้หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุก.....และ ปรับ..."
ป.อาญา ม.277 "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวาง โทษจำคุก...และปรับ...หรือจำคุกตลอดชีวิต "

เกี่ยวกับตัวผู้กระทำผิด เนื่องจากกฎหมายใช้คำว่า "ผู้ใด" ดังนั้นผู้กระทำผิดจึงมิได้จำกัดเฉพาะชายเท่านั้น หากมี หญิงร่วมกับชายกระทำความผิดใน 2 มาตรานี้ ก็จะถูกลงโทษในฐานะตัวการเช่นเดียวกับชายเหมือนกันตามนัยคำพิพากษา ฎีกาที่ 250/2510 และคำพิพากษาฎีกาที่ 59/2524
ลักษณะการกระทำในป.อาญา ม. 276 ใช้คำว่า "ข่มขืนกระทำชำเรา" ส่วนในมาตรา277 ใช้คำว่า "ชำเรา" เฉยๆ และในมาตรา 276 ยังมีถ้อยคำขยายความออกไปอีก โดยใช้คำว่า"โดย" แสดงว่าการกระทำในลักษณะที่กฎหมาย อธิบายไว้นั้น ขยายความหมายของคำว่า "ข่มขืน" ออกไปนั่นเอง
ดังนั้นลักษณะการกระทำตามมาตรา 276 จึงประกอบด้วย
1. การข่มขืน ซึ่งกฎหมายขยายความออกไปดังนี้คือ
ก. โดยการขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ
ข. โดยการใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งใน ป. อาญา ม. 1(6) ได้ให้นิยามของคำว่า"ใช้กำลังประทุษร้าย"ไว้ให้หมาย ความว่าทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมาย ความรวมถึงการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา สะกด จิตหรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน
ดังนั้นการกระทำในข้อนี้นอกจากจะได้แก่การใช้กำลังทำร้ายหรือใช้อาวุธทำร้ายแล้ว ยังรวมถึงการให้กินยาที่ทำให้ มึนเมา เช่น ยานอนหลับ ยาพิษ หรือการฉีดยาสลบเข้าไปด้วย รวมทั้งการสะกดจิตให้ผู้ถูกสะกดทำตามโดยไม่อาจ ขัดขืนได้
ค. โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้หมายความว่ากระทำชำเราในขณะที่หญิงนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่อาจขัดขืน ได้ การชำเรานั้นก็เป็น "ข่มขืนกระทำชำเรา"
ภาวะที่หญิงไม่อาจขัดขืนได้อาจมีได้ 2 ประการคือ ภาวะทางร่างกายและภาวะทางจิตใจตัวอย่างเช่น หญิงร่างกาย อ่อนแอมีความพิการของร่างกาย เช่นเป็นอัมพาต แขนขาด้วนหรือหญิงที่มีความผิดปกติทางจิตใจ เช่น ปัญญาอ่อนเป็นโรค จิต เป็นต้น
ง. โดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น เช่น ทำตนทำทีเหมือนสามีของหญิงนั้น (ในขณะเกิดเหตุใน ความมืด) เป็นต้น
2. การชำเราหรือกระทำชำเรา หมายถึงมีการร่วมเพศ ซึ่งตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1133/2509 วินิจฉัยว่า "ของลับของ จำเลยได้เข้าไปในของลับของผู้เสียหายราว 1 องคุลีถึอได้ว่าเป็นการชำเราแล้ว" และต่อมามีคำพิพากษาฎีกาที่ 1048/2518 วินิจฉัยว่า "การชำเราหญิงของลับของชายต้องล่วงล้ำเข้าในช่องสังวาสหรืออวัยวะสืบพันธุ์ของ หญิง ไม่ใช่ช่องทวารหนัก"
เพื่อประโยชน์ในการที่จะเข้าใจกลไกของการชำเราได้ดีขึ้น ต้องพิจารณาถึงกายวิภาคของอวัยวะสืบพันธุ์ของหญิง ด้วย
อวัยวะสืบพันธุ์ของหญิงอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ
ก. อวัยวะภายในได้แก่ รังไข่และมดลูก
ข. อวัยวะภายนอกคือ อวัยวะที่ปิดปากช่องคลอด ได้แก่ แคมนอกหรือแคมใหญ่ (Labia majora) ซึ่งเป็นส่วน ของผิวหนังและไขมันที่ปิดปากช่องคลอดอยู่นอกสุด และถ้ามีการแยกขาหรือใช้นิ้วมือแหวกอวัยวะส่วนนี้ออก จะพบหนัง ส่วนที่เป็นกลีบเล็ก ๆ อยู่ใต้แคมนอก ซึ่งเราเรียกส่วนนี้ว่าแคมใน หรือแคมเล็ก (Labia minora) เหนือสุดของแคมใน จะเป็นตุ่มเนื้อขนาดเล็กเรียกว่าตุ่มกระสันต์ (Clitoris) ถัดแคมในเข้าไปก็จะถึงเยื่อบาง ๆ ปิดปาก ช่องคลอดอยู่โดยรอบเรียกว่า เยื่อพรหมจารีย์ (Hymen) ซึ่งจะพบได้ในเด็กสาวหรือในหญิงที่ไม่ได้ผ่านการร่วมเพศ ถ้ามีการร่วมเพศ จะมีรอยขาดเกิดขึ้น ถ้ามีการร่วมเพศใหม่ ๆ รอยขาดของเยื่อพรหมจารีย์จะมีลิ่มเลือดติดอยู่ด้วย การขาดของเยื่อพรหมจารีย์นี้นอกจากการร่วมเพศก็อาจจะขาดเองได้จากการวิ่ง การกระโดด การเล่นกีฬาต่างๆ การขาดของเยื่อพรหมจารีย์นี้ถ้าขาดเก่าจะเห็น ขอบเยื่อพรหมจารีย์เป็นติ่งกะรุ่งกะริ่ง และอาจจะหายหมดไปก็ได้โดยเฉพาะในคนที่ผ่านการคลอดบุตรมาแล้ว
ดังนั้นการจะอนุมานว่ามีการชำเราหรือไม่ ควรดูว่ามีบาดแผลที่บริเวณเยื่อพรหมจารีย์และบริเวณที่อยู่ลึกเข้าไปหรือ ไม่ประกอบด้วย ในคนที่เยื่อพรหมจารีย์ขาดหมดแล้วก็ต้องดูบริเวณที่อยู่ลึกกว่าแคมในเข้าไปเป็นหลัก
เกี่ยวกับผู้เสียหาย ความผิดตาม ป.อาญา ม. 276 ผู้เสียหายต้องเป็นหญิง และมิใช่ภรรยาของผู้กระทำ คำว่า "ภรรยา" ในที่นี้ต้องถือตามความหมายใน ป.พ.พ.
ชายที่แปลงเพศเป็นหญิง โดยทำศัลยกรรมตบแต่งตัดอวัยวะสืบพันธุ์ออกไป และทำช่องสังวาสเทียมก็ไม่เป็นหญิง ได้ตามกฎหมาย และไม่ใช่เป็นผู้ถูกกระทำตามมาตรานี้
การพยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับความผิด 2 มาตรา ข้างต้นนี้หมายถึงว่าการชำเรายังไม่สำเร็จหรือยังไม่มี การชำเราตามแนววินิจฉัยของศาลที่อธิบายมาแล้วนั่นเอง

*** บทบาทของแพทย์ในคดีความผิดทางเพศ
แพทย์มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตรวจผู้เสียหายว่า มีการกระทำชำเราและอนาจารหรือไม่ โดยต้องรวบรวมหลัก ฐานต่าง ๆเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างแน่ชัด และร่องรอยก็สนับสนุนว่ามีการข่มขืนด้วย การตรวจอย่างละเอียดของแพทย์ จึงเป็นประโยชน์ต่อขบวนการยุติธรรมด้วย.
การตรวจในคดีข่มขืนกระทำชำเรา ควรต้องตรวจทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหา ดังนี้
1. การตรวจร่างกายผู้เสียหาย แพทย์จะทำการตรวจโดยมีหลักการดังต่อไปนี้
1.1 ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย
1.2 ควรจะได้ตรวจสภาพจิต และสติปัญญาของผู้เสียหายอย่างคร่าว ๆ
การถามประวัติ ผู้เสียหาย โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นหญิง การถามประวัติและพูดคุยกับผู้เสียหายแพทย์ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังเพราะ ผู้เสียหายได้รับความกดดันทางจิตใจ หรือบาดแผลทางใจอยู่แล้วจากการถูกกระทำจากผู้ต้องหา และควรจะทำการซักประวัติในที่ ที่ไม่ประเจิดประเจ้อ
1.3 การตรวจร่างกายทั่วไป แพทย์จะกระทำโดย
1.3.1 ดูสภาพการเจริญเติบโตของร่างกายว่าเติบโตสมอายุหรือไม่ มีความพิการของร่างกายที่ใดบ้าง
1.3.2 ดูสภาพของเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายว่ามีร่องรอยการฉีกขาด ร่องรอยการต่อสู้ การเปรอะเปื้อนบริเวณใด ถ้าสงสัยว่าจะมีคราบอสุจิหรือคราบเลือดที่ใดต้องนำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่นบริเวณกางเกงชั้นในอาจพบคราบอสุจิ ติดอยู่ด้วย
1.3.3 ดูตามเนื้อต้ว เช่น เล็บมือ ทั้งสองข้าง หากตรวจละเอียดอาจพบเศษผิวหนังกำพร้า ซึ่งสามารถส่งมาตรวจหาหมู่เลือดได้
1.3.4 ดูตามร่างกายทั่วไปว่ามีบาดแผลชนิดต่าง ๆ ปรากฏอยู่บริเวณใดบ้างหรือไม่
1.4 การตรวจอวัยวะสืบพันธุ์ผู้เสียหายที่เป็นหญิง แพทย์จะทำการตรวจดังนี้
1.4.1 หญิงที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรานั้น อาจมีบาดแผลในตำแหน่งต่างๆบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ได้เสมอ แพทย์จึงต้องดูว่ามีบาดแผลปรากฏบริเวณใกล้เคียงอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกที่ใดบ้าง
1.4.2 บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกและทวารหนักที่ใดมีคราบที่สงสัยว่าจะเป็นคราบอสุจิ แพทย์จะใช้ สำลีสะอาดที่พันปลายไม้ชุบน้ำเกลือหรือน้ำกลั่นให้ชื้นนำไปป้ายหรือเช็ดบริเวณที่สงสัยว่าจะเป็นคราบอสุจิ ส่งไปตรวจทางห้อง ปฏิบัติการ
1.4.3 ตรวจอวัยวะสืบพันธุ์และตรวจภายในช่องคลอด
1.4.3 ส่งตรวจหาคราบอสุจิทางห้องปฏิบัติการ
1.4.5 การตรวจพบกามโรคจากผู้เสียหาย ก็อาจเป็นพยานประกอบว่าน่าจะมีการร่วมเพศ
1.5 ผู้เสียหายที่เป็นชาย ที่สงสัยว่าจะถูกกระทำอนาจารโดยการร่วมเพศทางทวารหนัก แพทย์ต้องตรวจ ทำนองเดียวกับการตรวจบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ผู้เสียหายที่เป็นหญิงเช่นเดียวกัน แต่เป็นการตรวจบริเวณทวารหนักแทน การตรวจอวัยวะสืบพันธุ์
2. การตรวจร่างกายผู้ต้องหาที่เป็นชาย
2.1 การตรวจร่างกายภายนอกทั่วไปของผู้ต้องหานั้น แพทย์มีสิทธิตรวจผู้ต้องหาได้เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน
2.2 การตรวจสภาพจิตใจและสติปัญญาของผู้ต้องหา
2.3 การตรวจร่างกายทั่วไป
2.3.1ดูสภาพการเจริญเติบโตของร่างกายว่าสมอายุหรือไม่ โดยหลักทั่วไปแล้ว ชายหญิงทีมีร่างกายอยู่ในขนาดผู้ใหญ่โดยเฉลี่ย ชายจะไม่สามารถใช้กำลังเพื่อชำเราหญิงได้ ถ้าไม่มีการทำร้ายร่างกายร่วมด้วย
2.3.2 ตรวจพบบาดแผลตามร่างกายผู้ต้องหา
2.4 การตรวจอวัยวะเพศ (องคชาต) ของผู้ต้องหา

3. การตรวจอายุ ในคดีความผิดทางเพศนี้ อายุของผู้เสียหายจะมีความสำคัญเป็นอันมาก ในการที่จะแยกฐาน ความผิดตลอดจนความรุนแรงของโทษที่ต่างกัน
หลักการตรวจอายุของแพทย์ มีดังนี้
3.1 ตรวจดูการเจริญเติบโตของร่างกายว่ามีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างที่เกิดขึ้นในระยะวัยรุ่นหรือยัง เช่น ในผู้หญิงดูว่าเต้านมโตขึ้นหรือยัง เป็นต้น
3.2 ดูการขึ้นของฟันว่า มีฟันแท้ขึ้นกี่ซี่ ฟันน้ำนมยังเหลืออยู่หรือไม่
3.3 ดูการเจริญเติบโตของกระดูกตามที่ต่าง ๆ ของร่างกาย โดยการถ่ายเอ็กซเรย์ตามปลายกระดูก
แล้วนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาให้ความเห็นว่า คนผู้นั้นอายุประมาณเท่าใด
4. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีการตรวจดังนี้
4.1 การตรวจหาตำแหน่งของคราบว่าอยู่ที่ตำแหน่งใด โดยใช้แสงอุลตราไวโอเล็ต (Ultraviolet lamp) ส่องในห้องมืด จะทำให้มองเห็นบริเวณที่มีคราบติดอยู่ปรากฏชัดเจนต่างจากบริเวณอื่น
4.2 การตรวจคราบอสุจิโดยหาตัวอสุจิ,น้ำอสุจิ ประกอบด้วยส่วนสำคัญคือตัวอสุจิ และน้ำซึ่งมีสารเคมีและ เกลือแร่อยู่หลายชนิด
การตรวจตัวอสุจิจึงเอาของเหลวที่สงสัยไปส่องกล้องจุลทรรศน์ ถ้าพบตัวอสุจิก็แสดงว่าของเหลวนั้นมีน้ำอสุจิอยู่
4.3 การตรวจทางเคมี ส่วนประกอบของน้ำอสุจิ
4.3.1 การตรวจโฆลีน คือการตรวจหาสารโฆลีน (Choline) ปัจจุบันวิธีนี้ใช้กันน้อย
4.3.2 การตรวจหาสารอะศิดฟอสฟาเตส (Acid phosphatase test) สารนี้เป็นเอ็นซัยม์ที่มาจากต่อมลูกหมาก (Prostate gland) และมีอยู่ในน้ำอสุจิเป็นปริมาณสูง ซึ่งการทดสอบดังกล่าวนี้ทำให้เกิดสีขึ้นภายใน เวลาที่กำหนด จะถือว่าให้ผลบวก แสดงว่าสิ่งนั้นน่าจะเป็นคราบอสุจิ
4.4 การตรวจเซลล์ของเยื่อบุช่องคลอด
ความเห็นของแพทย์ในคดีข่มขืนกระทำชำเรา
คดีความผิดทางเพศที่เกี่ยวกับการชำเรานั้น แพทย์ที่ได้ตรวจผู้เสียหาย อาจจะต้องให้ความเห็นในประเด็นต่อไปนี้
1. ประเด็นที่ว่ามีการชำเราหรือการร่วมเพศหรือไม่ แพทย์จะพิจารณาให้ความเห็นดังนี้
1.1 ผู้เสียหายเพิ่งผ่านการร่วมเพศมา ต้องตรวจพบว่ามีหลักฐานของการที่อวัยวะเพศของชายล่วงล้ำเข้าในช่องคลอดของผู้เสียหาย การตรวจทางเคมีพบสารอะศิดฟอสฟาเตส การพบตัวอสุจิภายใน ช่องคลอด
1.2 ให้ความเห็นเป็นเชิงปฏิเสธสิ้นเชิง
1.3 การให้ความเห็นที่ไม่ยืนยันแน่นอนแต่ให้ความเห็นตามความน่าจะเป็นหรือความเป็นไปได้
1.3.1 ถ้าตรวจพบสารเคมีอะศิดฟอสฟาเตส ในช่องคลอดเพียงอย่างเดียว ไม่พบตัวอสุจิ ไม่มีบาดแผล บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้เสียหาย ทั้งนี้เพราะบางกรณีปฏิกิริยาอะศิดฟอสฟาเตสอาจให้ ปฏิกิริยาบวกเท็จ
1.3.2 ถ้าการตรวจผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ พบแต่เพียงรอยแดงหรือรอยฟกช้ำเล็กน้อยบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ โดยไม่พบอะศิดฟอสฟาเตส หรือตัวอสุจิภายในช่องคลอดเลย
1.4 กรณีที่แพทย์ไม่อาจให้ความเห็นได้ว่าผู้เสียหายจะถูกชำเราหรือไม่ เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายผู้เสียหายแล้ว ไม่พบข้อมูลใดเลยที่แสดงถึงการร่วมเพศ

2. ในกรณีที่พบว่ามีการชำเรา แพทย์อาจจะให้ความเห็นเกี่ยวกับระยะเวลาที่มีการชำเราได้ดังนี้
2.1 ถ้าพบว่ามีการฉีกขาดของอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้เสียหาย และมีลิ่มเลือดเกาะอยู่หรือเลือดกำลังไหลซึมอยู่ แสดงว่าการชำเราที่ทำให้เกิดแผลนั้นจะเกิดขึ้น ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ก่อนที่แพทย์จะตรวจ
2.2 ถ้าพบว่าการฉีกขาดของอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้เสียหายมีคราบหนองเกิดขึ้น บางคราวอาจมีกลิ่นเหม็น แสดงว่าการชำเราที่ทำให้เกิดบาดแผลนั้น เกิดขึ้นเกินกว่า 24 ชั่วโมง ก่อนแพทย์จะตรวจ
2.3 ถ้าตรวจด้วย กล้องจุลทรรศน์ พบตัวอสุจิเคลื่อนไหวได้ แสดงว่าการร่วมเพศน่าจะเกิดขึ้นภายใน 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
2.4 ถ้าตรวจพบหรือไม่พบตัวอสุจิ แต่พบสารอะศิดฟอสฟาเตสเพียงอย่างเดียว แสดงว่าการร่วมเพศเกิดขึ้นภายใน 3 วัน ก่อนการตรวจ
2.5 การตรวจพบตัวอสุจิในช่องคลอดจำนวนน้อย และเป็นตัวอสุจิที่ไม่เคลื่อนไหวแสดงว่าการร่วมเพศเกิด ขึ้นภายใน 7 วัน ก่อนการตรวจ

งานพิษวิทยา
สารเคมีหลายตัว เราใช้ในการรักษาโรคซึ่งมีคุณเป็นอย่างมากแต่ถ้าใช้ในปริมาณสูง ๆ ก็ทำให้เกิดพิษได้อาจกล่าว ได้ว่า สารทุกชนิดเป็นสารพิษได้ ไม่มีสารใดเลยที่จะไม่เป็นสารพิษ แต่สิ่งที่จะเป็นตัวชี้ว่า สารใดเป็นสารพิษนั้นก็คือ ขนาด (dose) ของสารที่ร่างกายได้รับเข้าไป ซึ่งก็มีปัจจัยหลายอย่างที่จะเป็นตัวกำหนดขนาด ความเป็นพิษของสาร ได้แก่ - ปัจจัยจากตัวสาร เช่น ปริมาณ, รูปแบบ, คุณสมบัติการละลาย
- ปัจจัยจากตัวผู้รับสาร เช่น อายุ ทางที่ได้รับสารเข้าสู่ร่างกาย โรคประจำตัว กรรมพันธุ์
- ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น เป็นต้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สารพิษในโลกนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการด้านต่าง ๆ ในประเทศไทยก็มีมากขึ้น ตามการพัฒนาของบ้านเมือง ปัญหาการเกิดพิษก็มีแนวโน้มสูงมากขึ้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น การได้รับโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ดังนั้น ก็ย่อมจะเป็นภาระแก่แพทย์ในการให้การช่วยเหลือเยียวยารักษา หรือหาสา เหตุการเกิดพิษ ซึ่งก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้วย
งานพิษวิทยา มีขีดความสามารถในการตรวจวิเคราะห์สารพิษที่ทำกันอยู่เป็นประจำ แบ่งได้ดังนี้
- สารที่ระเหยได้ เช่น แอลกอฮอล์, ไซยาไนด์
- แก๊ส เช่น คาร์บอนมอนน็อคไซด์ (CO), ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H 2 S)
- สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เช่น ยาฆ่าแมลง, ยาฆ่าหญ้า, ยาเบื่อหนู
- โลหะหนัก เช่น ตะกั่ว (Pb), ปรอท (Hg), สารหนู (As), ลิเธียม (Li)
- ยาเสพติด เช่น เฮโรอีน, มอร์ฟีน
- ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ เช่น Valium, Dormicum, Barbiturates
- ยากระตุ้นประสาท เช่น Amphetamine, Methamphetamine, กัญชา
- ยารักษาโรคอื่น ๆ เช่น Paracetamol, Aspirin, Prednisolone