กองทุนรวม Mutual Fund

กองทุนรวม Mutual Fund
คือ เครื่องมือในการลงทุน (investment vehicle) สำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ประสงค์จะนำเงินมาลงทุนในตลาดเงินตลาดทุน แต่ติดขัดด้วยอุปสรรคหลายประการ ที่ทำให้การลงทุนด้วยตนเองไม่สามารถได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ต้องการ เช่น
มีทุนทรัพย์จำนวนจำกัด ไม่สามารถกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเภทได้มากพอ เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน หรือ
ไม่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในการลงทุน หรือ
ไม่มีเวลาจะศึกษา ค้นหา และติดตามข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจการลงทุน
กองทุนรวม จึงเป็นเครื่องมือในการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดการลงทุนอย่างเป็นระบบ โดยมีจุดมุ่งหมายให้การลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีสุด ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้

โครงสร้างของกองทุนรวม ถูกกำหนดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยประกอบด้วยผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ และผู้กำกับดูแล ทั้งที่เป็นองค์กรของภาคเอกชนและภาครัฐ ได้แก่
1. บริษัทจัดการ บริษัทจัดการต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตจัดการลงทุนจากกระทรวงการคลังเท่านั้น บริษัทจัดการเป็นผู้กำหนดโครงการกองทุนรวม นโยบายการลงทุนและวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอขออนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. และต้องบริหารจัดการลงทุนตามวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนนั้นโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะแจ้งนโยบายการลงทุนและวัตถุประสงค์ในการลงทุนให้ผู้ลงทุนทราบ ในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนที่แจกจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนและผู้ที่สนใจลงทุนได้ศึกษาก่อนที่จะลงทุน
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม
· ผู้ดูแลผลประโยชน์ ผู้ดูแลผลประโยชน์ เป็นสถาบันการเงิน ที่มีคุณสมบัติตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด และต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับบริษัทจัดการ ผู้ดูแลผลประโยชน์จะเป็นตัวแทนของผู้ถือหน่วยลงทุน ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ทั้งมวลของผู้ถือหน่วยลงทุน เช่น
ดูแลให้บริษัทจัดการจัดการกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนของโครงการลงทุน ที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. และที่ได้จดแจ้งไว้ในหนังสือชี้ชวน
ทำหน้าที่ชำระราคาค่าซื้อและรับชำระราคาจากการขายทรัพย์สิน
เก็บรักษาทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนรวม
สอบทานความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม
ดำเนินคดีฟ้องร้องแทนผู้ถือหน่วยลงทุนหากบริษัทจัดการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
· ตัวแทนสนับสนุนการขายหน่วยลงทุน ปัจจุบันบุคคลที่จะทำหน้าที่เสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมได้ ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น ตัวแทนสนับสนุนขายหน่วยลงทุน ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด และผ่านการทดสอบความรู้ในหลักสูตรการเป็นตัวแทนขายจากสถาบันที่สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นชอบ ขึ้นทะเบียนรายชื่อกับสำนักงาน ก.ล.ต. ต้องปฏิบัติและทำหน้าที่ในการขายตามกรอบที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันการขายและการโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ตัวแทนสนับสนุนขายหน่วยลงทุน หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า ผู้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนกองทุนรวม มีสองระดับ ได้แก่
1. ตัวแทนสนับสนุนการขาย-ระดับหนึ่ง [ Investment Planner (IP)] หมายถึง บุคคลที่สามารถให้ คำแนะนำในการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนและผู้สนใจลงทุนทั่วไป ทั้งที่เป็น คำแนะนำทั่วไป และ คำแนะนำเฉพาะเจาะจง
2. ตัวแทนสนับสนุนการขาย-ระดับสอง [ Fundamental Guide (FG) ] หมายถึง บุคคลที่ สามารถให้ คำแนะนำในการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนและผู้สนใจลงทุน ทั่วไป เฉพาะที่เป็น คำแนะนำทั่วไป เท่านั้น
· นายทะเบียนหน่วยลงทุน นายทะเบียนหน่วยลงทุน เป็นสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้มีหน้าที่ดูแลทะเบียนรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน ตลอดจนสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน เช่น การจ่ายเงินปันผล และสิทธิประโยชน์ อื่น ๆ บริษัทจัดการอาจทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหน่วยลงทุน สำหรับกองทุนรวมภายใต้การจัดการของตนก็ได้
· ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้สอบบัญชี และมีชื่อขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงาน ก.ล.ต. ต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับบริษัทจัดการ มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของกองทุนรวม ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบงบการเงินของกองทุนให้ถูกต้องตามมาตรฐานบัญชี
· สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมบริษัทจัดการลงทุน จัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เป็นสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ จดทะเบียนสมาคมกับสำนักงาน ก.ล.ต. มีบริษัทจัดการที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล และการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสมาชิก สมาคมมีหน้าที่กำหนดจรรยาบรรณ และวางมาตรฐานในการปฏิบัติ ให้บริษัทสมาชิกยืดถือและปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกราย กำหนดบทลงโทษเมื่อบริษัทสมาชิกฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตาม
· สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นองค์กรของภาครัฐ ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงการจัดการลงทุน ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือ ข้อกำหนดตามความในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์


ประเภทของกองทุนรวม

ด้วยกองทุนรวมเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือในการลงทุนของผู้ลงทุน ดังนั้น จึงต้องมีความหลากหลายเพื่อให้มีความเหมาะสมกับแต่ละลักษณะของผู้ลงทุน โดยทั่วไปกองทุนรวมสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
1. แบ่งตามประเภทของการขายคืนหน่วยลงทุน

1. กองทุนปิด (Closed-End fund) กองทุนรวมที่มีหน่วยลงทุนคงที่ ไม่เพิ่มขึ้นและไม่ลดลง และเปิดให้มีการจองซื้อเพียงครั้งเดียวเมื่อจัดตั้งโครงการ มีกำหนดอายุโครงการแน่นอน และบริษัทจัดการไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดอายุโครงการ ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่สามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อน ครบกำหนดอายุโครงการได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว อายุโครงการของกองทุนรวมในประเทศไทย จะมีกำหนด 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี และเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการอาจนำหน่วยลงทุนของกองทุนปิดไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรอง(ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) หรือจัดให้มี ตัวแทนจัดการซื้อขาย (Market maker)
2. กองทุนเปิด (Open-End fund) กองทุนรวมที่สามารถเพิ่มหรือลดหน่วยลงทุนได้ ไม่มีกำหนดอายุโครงการ และบริษัทจัดการรับซื้อคืนหน่วย ลงทุนตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกสองสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกไตรมาส หรือทุกหกเดือน กองทุนเปิดจึงเป็นที่นิยม มากกว่ากองทุนปิด เพราะมีสภาพคล่องมากกว่า

ตารางเปรียบเทียบกองทุนปิดและกองทุนเปิด

กองทุนปิด
กองทุนเปิด
1. จำนวนหน่วยลงทุน
กำหนดแน่นอน ไม่เพิ่ม ไม่ลด
สามารถเพิ่มหรือลดลงได้
2. อายุโครงการ
มีกำหนดแน่นอน
ไม่มีกำหนด (evergreen)
3. การซื้อหน่วยลงทุน
เปิดให้จองซื้อครั้งเดียวเมื่อเริ่มโครงการหากประสงค์ซื้อเพิ่มในภายหลัง ต้องเข้าซื้อในตลาดรอง (กรณีบริษัทจัดการทำหน่วยลงทุนเข้าจดทะเบียนซื้อขาย) หรือแสดงความจำนงกับตัวแทนขาย (market maker) ที่บริษัทจัดการแต่งตั้ง
สามารถซื้อเพิ่มจำนวนหน่วยกับบริษัทจัดการโดยตรง หรือติดต่อผ่านตัวแทนสนับสนุนการขาย ที่บริษัทจัดการแต่งตั้ง ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล เช่น ธนาคาร หรือบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำหน้าที่ส่งคำสั่งซื้อมายังบริษัทจัดการ
4. การขายคืนหน่วยลงทุน
บริษัทจัดการไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนจนกว่าจะครบอายุโครงการ หากผู้ลงทุนมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ต้องขายหน่วยลงทุนที่ถือไว้ในตลาดรองในราคาตลาดให้แก่ผู้ประสงค์ซื้อ
บริษัทจัดการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน (รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน) ในราคาเท่ากับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หักด้วยค่าธรรมเนียม(ถ้ามี)
5. การจดทะเบียนซื้อขาย
นิยมจดทะเบียนซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดรอง เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ไม่นิยมจดทะเบียนซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดรอง เพราะสามารถซื้อขายผ่านตัวแทนสนับสนุนการขายได้อยู่แล้ว

2. แบ่งตามนโยบายการลงทุน 10 แบบมาตรฐานของสำนักงาน ก.ล.ต.
1. กองทุนรวมตราสารแห่งทุน (Equity fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารทุน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม บริษัทจัดการต้องรายงานค่าเฉลี่ยการถือครองตราสารทุนให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบทุกรอบระยะเวลาสามเดือน หกเดือน เก้าเดือน และสิบสองเดือนของรอบบัญชีกองทุน หากค่าเฉลี่ยการถือครองตราสารทุนไม่ถึงร้อยละ 65 ในรอบระยะเวลาใด ให้บริษัทจัดการแสดงเหตุผลโดยชัดเจน เพื่อที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะได้นำไปเปิดเผยให้แก่ผู้ลงทุนและผู่ที่สนใจลงทุนทราบต่อไป โดยทั่วไปแล้ว กองทุนรวมตราสารแห่งทุน มีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวม ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารประเภทอื่น จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูง และควรลงทุนเพื่อหวังผลที่ดีกว่าในระยะยาว
2. กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ (General fixed income fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้เฉพาะเงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดหรือให้ความเห็นชอบให้กองทุนประเภทดังกล่าวลงทุนได้ ห้ามมิให้กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ลงทุนหรือ มีไว้ซึ่งตราสารทุนหรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (หุ้นกู้แปลงสภาพ) ยกเว้นแต่สำนักงาน ก.ล.ต. จะพิจารณาอนุญาต เมื่อมีผู้ให้คำรับรองที่น่าเชื่อถือได้ว่าจะเป็นผู้รับ ซื้อตราสารทุนหลังการแปลงสภาพนั้นออกไปจากกองทุนโดยทั่วไปแล้ว กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ มีความเสี่ยงน้อยกว่ากองทุนรวมที่มีนโยบาย ลงทุนในตราสารทุน จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อยกว่า
3. กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะยาว (Long-term fixed income fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้เฉพาะเงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต .กำหนดหรือให้ความเห็นชอบให้กองทุนประเภทดังกล่าวลงทุนได้ โดยกองทุนมีวัตถุประสงค์ที่จะดำรง พอร์ตโฟริโอ ดูเรชัน (portfolio duration) ในขณะใดขณะหนึ่งของกองทุนรวมนั้นมากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป พอร์ตโฟริโอ ดูเรชัน (portfolio duration) หมายถึง อายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของกระแสเงินที่ได้รับจากทรัพย์สินของกองทุนรวม พอร์ตโฟริโอ ดูเรชัน มากกว่าหนึ่งปี มีความหมายโดยทั่วไปว่า ทรัพย์สินที่กองทุนลงทุนและมีไว้ มีอายุเฉลี่ยมากกว่าหนึ่งปี เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงต่ำ และสามารถลงทุนระยะยาวได้
4. กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น (Short-term fixed income fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้เฉพาะเงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดหรือให้ความเห็นชอบให้กองทุนประเภทดังกล่าวลงทุนได้ โดยกองทุนมีวัตถุประสงค์ที่จะดำรง พอร์ตโฟริโอ ดูเรชัน (portfolio duration) ในขณะใดขณะหนึ่งของกองทุนรวมนั้นไม่เกินหนึ่งปี พอร์ตโฟริโอ ดูเรชัน ต่ำกว่าหนึ่งปี มีความหมายโดยทั่วไปว่า ทรัพย์สินที่กองทุนลงทุนและมีไว้ มีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าหนึ่งปี เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะสั้น และต้องการความเสี่ยงต่ำ
5. กองทุนรวมผสม (Balanced fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนด หรือให้ความเห็นชอบให้กองทุนประเภทดังกล่าวลงทุนได้ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะดำรงอัตราส่วนการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารทุนในขณะใดขณะหนึ่งไม่เกินร้อยละ 65 และไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม กองทุนผสม ลงทุนในตราสารได้ทุกประเภท ผู้จัดการกองทุนสามารถแสวงหาโอกาสลงทุนที่ดีกว่าได้ทั้งในตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้ แต่เป็นการจัดสรรเงินลงทุนประเภทสมดุล เพราะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับ ceiling และ floor ในการลงทุนในตราสารทุน กองทุนผสม เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง
6. กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น (Flexible portfolio fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนด หรือให้ความเห็นชอบให้กองทุนประเภทดังกล่าวลงทุนได้ ทั้งนี้ การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นดังกล่าว ขึ้นกับการตัดสินใจลงทุนของผู้จัดการกองทุนรวม ตามความเหมาะสมและสภาวการณ์ในแต่ละขณะ กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น สามารถลงทุนในตราสารทุกประเภทเช่นเดียวกับกับกองทุนรวมผสม แต่ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับ ceiling และ floor ในการลงทุนในตราสารทุนแต่อย่างใด การจัดสรรเงินลงทุนของกองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่นระหว่างตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้ จึงอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง
7. กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of funds) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม เนื่องจากกองทุนรวมมีข้อดีหลายประการ ที่สำคัญคือ มีการกระจายการลงทุน ความเสี่ยงจึงลดลง ทั้งยังมีต้นทุนเฉลี่ยต่ำ กองทุนรวมหน่วยลงทุนจึงรับเอาข้อได้เปรียบดังกล่าวมา นอกจากนั้นแล้ว กองทุนรวมหน่วยลงทุนยังกระจายการลงทุนไปในหลาย กองทุนรวมภายใต้การจัดการของหลายผู้จัดการกองทุนและหลายบริษัทจัดการ จึงเป็นการกระจายความเสี่ยงที่กว้างขวางกว่า ข้อเสียของกองทุนรวมหน่วยลงทุน อยู่ที่มีค่าธรรมเนียมในการจัดการและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซ้ำซ้อน
8. กองทุนรวมใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม การลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น มีความเสี่ยงสูง กองทุนประเภทนี้จึงมีความเสี่ยงสูงมาก
9. กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ (Sector fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารทุนของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกันตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ มีการลงทุนกระจุกตัว จึงมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมตราสารแห่งทุนโดยทั่วไป
10. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money market fund) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและมีกำหนดชำระเงินต้นเมื่อทวงถามหรือมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี กองทุนรวมตลาดเงิน มีนโยบายการลงทุนที่คล้ายคลึงกับ กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น มีความเสี่ยงต่ำสุด เหมาะสำหรับการลงทุน ระยะสั้นของผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง
กองทุนรวมประเภทพิเศษ

1. กองทุนรวมมีประกัน (Guarantee fund)
กองทุนรวมมีประกัน คือ กองทุนรวมที่บริษัทจัดการจัดให้มีสถาบันการเงินเป็นผู้ประกันต่อผู้ถือหน่วยลงทุนว่า จะจ่ายเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน ตามจำนวนเงินที่ประกันไว้ (อาจจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด) ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน เมื่อถือหน่วยลงทุนครบอายุตามระยะเวลาประกันที่กำหนด วัตถุประสงค์ของการจัดให้มีกองทุนรวมมีประกัน ก็เพื่อที่จะทำให้ผู้ลงทุนมีความมั่นใจว่า เงินลงทุนของตนจะไม่สูญ นโยบายการลงทุนของกองทุนรวมมีประกัน การลงทุนอาจเป็นแบบใดแบบหนึ่งในมาตรฐาน 10 แบบตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ลงทุนต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนการลงทุน สถาบันการเงินที่เป็นผู้ประกันของกองทุนรวมมีประกัน ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
1. เป็นธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ทั้งนี้ ผู้ประกันดังกล่าวจะต้องสามารถดำรงเงินกองทุนและกันเงินสำรองได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจนั้น
2. เป็นธนาคารต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในสี่อันดับแรกจากสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน ก.ล.ต.
2. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement mutual fund)
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ คือ กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมและการลงทุนของบุคคล เพื่อเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการเกษียณอายุที่มีคุณภาพ ผู้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มากกว่าการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป เพราะเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้รับการยกเวันภาษีเงินได้ไม่เกินปีละ 300,000 บาท ทั้งนี้ ให้นับรวมเงินลงทุนมนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แล้วแต่กรณี ผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์จากการประหยัดภาษีเงินได้ทันที ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มลงทุน
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เหมาะสำหรับใคร?
1. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งแต่เดิมมาขาดโอกาสสะสมเงินลงทุนแบบปลอดภาษี เพราะไม่มีระบบบำเหน็จบำนาญรองรับ
2. ลูกจ้างที่นายจ้างยังไม่พร้อมที่จะจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถสะสมเงินลงทุนเพื่อวัยเกษียณได้
3. ลูกจ้างหรือข้าราชการที่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญอยู่แล้ว และประสงค์ที่จะลงทุนมากกว่าเดิม เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เต็มวงเงิน 300,000 บาท ตามที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและส่งเสริม
เงื่อนไขการลงทุนเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่
4. เงินลงทุน ต้องมาจากเงินได้จากการประกอบอาชีพเท่านั้น เช่น ค่าจ้าง โบนัส เบี้ยประชุม เงินบำเหน็จบำนาญ ค่ารับเหมา ค่านายหน้า ทั้งนี้ ไม่รวมถึง เงินได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล เงินค่าเช่า และเงินค่าขายทรัพย์สิน (ยกเว้นในกรณีเป็นการค้าปกติ สำหรับเงินได้สองประเภทหลัง)
5. ผู้ลงทุนที่มีเงินได้ต้องลงทุนแบบผูกพัน คือ ลงทุนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง แต่เมื่อมีความจำเป็นอาจระงับการลงทุนได้ไม่เกินหนึ่งปีติดต่อกัน แต่หากผู้ลงทุนไม่มีเงินได้ในปีใดหรือหลายปีติดต่อกัน ผู้ลงทุนสามารถว่างเว้นการลงทุนได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขการลงทุนและเมื่อมีเงินได้ก็ให้ลงทุนต่อไป โดยนับอายุการลงทุนตั้งแต่ปีแรกที่ลงทุน
6. เงินลงทุนขั้นต่ำ ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละสามของรายได้ หรือไม่น้อยกว่าห้าพันบาทต่อปีอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีจำนวนเงินต่ำกว่า ในการคำนวณรวมเงินลงทุนขั้นต่ำ ให้รวมเงินลงทุนในทุก ๆ กองทุนที่ลงทุนในปีนั้น ๆ
7. เงินลงทุนขั้นสูง ต้องไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินได้ แต่ต้องไม่เกินสามแสนบาทต่อปี ในการคำนวณรวมเงินลงทุนขั้นสูง ให้รวมเงินลงทุนใน ทุก ๆ กองทุนที่ลงทุนในปีนั้น ๆ
8. กองทุนไม่จ่ายเงินปันผล
9. ห้าม นำหน่วยลงทุนของกองทุนไป จำหน่ายจ่ายโอน หรือ นำไปเป็นประกัน
10. หากขายคืนหน่วยลงทุนก่อนกำหนด ที่ผู้ลงทุนจะมีอายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์และถือหน่วยลงทุนมาน้อยกว่าห้าปี ผู้ลงทุนต้องนำเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับในช่วงห้าปีปฏิทินล่าสุดไปคืนกรมสรรพากร และนำเงินกำไรส่วนเกินทุนที่เกิดจากการขายคืนหน่วยลงทุนนั้น ไปคำนวณรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ในปีที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนนั้น
นโยบายการลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
การลงทุนอาจเป็นแบบใดแบบหนึ่งในมาตรฐาน 10 แบบของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งมีความเสี่ยงและผลตอบแทนในระดับที่แตกต่างกัน ผู้ลงทุนต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนการลงทุน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ลงทุน การยอมรับความเสี่ยง และการคาดหวังผลตอบแทน
3. กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund)
กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ คือ กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาอนุญาตให้มีการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้ในวงเงินจำกัดในแต่ละปี กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ จึงนับเป็นช่องทางเพียงช่องเดียวที่ผู้ลงทุนไทยจะสามารถกระจายเงินลงทุนของตนให้กว้างขวางขึ้น และเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุน บริษัทจัดการที่สามารถจัดตั้งกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ต้องมีคุณสมบัติตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นชอบ บริษัทจัดการอาจให้ผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนรวมได้ เนื่องจากการลงทุนในต่างประเทศต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวในการจัดการลงทุน นโยบายการลงทุนของ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ อาจเป็นแบบใดแบบหนึ่งในมาตรฐาน 10 แบบของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งมีความเสี่ยงและผลตอบแทนในระดับที่แตกต่างกัน ผู้ลงทุนต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนการลงทุน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ลงทุน การยอมรับความเสี่ยง และการคาดหวังผลตอบแทน กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ต้องลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนด กล่าวคือ
1. ต้องนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศทั้งจำนวน เว้นแต่เป็นกรณีเงินฝากในประเทศ เพื่อสำรองเงินไว้สำหรับการดำเนินงานของกองทุน รอการลงทุน รักษาสภาพคล่องของกองทุน เป็นต้น
2. ต้องลงทุนในประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) หรือในประเทศที่มีตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ Federation International des Bourses de Valeurs (FIBV)
3. ผู้ออกหลักทรัพย์หรือตราสารการเงินอื่นใดและผู้รับฝากเงิน ต้องเป็นบุคคลที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายของประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกสามัญของ IOSCO หรือของประเทศที่มีตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ FIBV
4. การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้น หุ้นนั้นต้องมีการซื้อขายใน Organized markets ของประเทศ นั้น ๆ (ตลาดซื้อขายหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ IOSCO หรือในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ FIBV
บริษัทจัดการต้องยื่นคำขอต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อขอให้พิจารณารับหน่วยลงทุนของ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันถัดจากวันจดทะเบียนกองทุน หากตลาดหลักทรัพย์สั่งไม่รับหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ บริษัทจัดการต้องดำเนินการเพื่อยกเลิกกองทุน


ตราสารที่ลงทุน
1. ตราสารทุน (equity instruments) หมายถึง ตราสารที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือ เพื่อแสดงสิทธิของความเป็นเจ้าของในกิจการนั้น ประเภทของตราสารทุนได้แก่
1. หุ้นสามัญ (common stocks หรือ ordinary shares) คือ ตราสารสิทธิที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการ และเมื่อกิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน ผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับเงินปันผลในอัตราที่จัดสรรโดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น โดยคำนวณตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่ถือครอง ทั้งนี้ เงินปันผลอาจมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลกำไรจากการดำเนินงานประจำปีของกิจการ
2. หุ้นบุริมสิทธิ์ (preferred stocks) คือ ตราสารสิทธิที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการที่มีการจดบุริมสิทธิ์ไว้อย่างชัดเจนไม่สามารถยกเลิกได้ เมื่อกิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะได้รับเงินปันผลในอัตราคงที่ตามที่จดบุริมสิทธิ์ไว้ อาจจะมากหรือน้อยกว่าผู้ถือหุ้นสามัญก็ได้ แต่หากกิจการนั้นต้องเลิกดำเนินการและมีการชำระบัญชีโดยการขายทรัพย์สิน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะได้รับเงินคืนทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
3. ใบสำคัญแสดงสิทธิในหุ้น (stock warrants) คือ ตราสารสิทธิที่กิจการออกให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อให้สิทธิในการซื้อหุ้นออกใหม่ในราคา จำนวน และภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ลงทุนจะมีสิทธิในความเป็นเจ้าของกิจการก็ต่อเมื่อได้ใช้สิทธิในการซื้อหุ้นของกิจการนั้นแล้วเท่านั้น
4. หน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน คือ ตราสารสิทธิในการเป็นเจ้าของหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนเน้นการลงทุนในตราสารทุน ผู้ลงทุนจะมีสิทธิในความเป็นเจ้าของกิจการที่กองทุนรวมนั้นลงทุนไว้ ตามสิทธิที่เฉลี่ยระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดในกองทุนรวมนั้นนั่นเอง
5. ตราสารแสดงสิทธิในอนุพันธ์ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้น (stock options & futures) คือ สัญญาที่ผู้ลงทุนสองฝ่ายตกลงกันเพื่อซื้อหรือขายหุ้นในราคา จำนวน และภายในระยะเวลาที่กำหนด
2. ตราสารหนี้ (Debt Instruments) หมายถึง ตราสารแสดงความเป็นหนี้ หรือ สัญญาเงินกู้ที่บริษัทออกให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป โดยสัญญาว่าจะใช้เงินตามกำหนด และจ่ายดอกเบี้ยตามกำหนด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นตราสารสิทธิที่แสดงความเป็น "เจ้าหนี้ของกิจการ" โดยทั่วไปแล้วการลงทุนในตราสารหนี้ จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในตราสารทุน ประเภทของตราสารหนี้ ได้แก่
1. ตราสารหนี้ภาครัฐ ได้แก่
พันธบัตรรัฐบาล (government bond)
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (state-owned enterprise bond)
พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ตั๋วเงินคลัง (treasury bill)
ตราสารหนี้ภาครัฐ มีความเสี่ยงต่ำสุดในด้านความสามารถในการชำระหนี้ แต่ตราสาร หนี้ภาครัฐก็จะมีอัตราผลตอบแทนไม่สูงนัก ส่วนใหญ่จะมีอายุการลงทุนยาว เพื่อมิให้เป็นภาระของรัฐในด้านการบริหารและการจัดการหนี้ ยกเว้นแต่กรณีของตั๋วเงินคลัง ซึ่งรัฐบาลออกเพื่อใช้ในการกู้ยืมเงินระยะสั้น (ไม่เกิน 180 วัน) หรือเพื่อดูดซับเงินสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดเงิน เพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น
2. ตราสารหนี้ภาคเอกชน ได้แก่
1. หุ้นกู้ (Debenture) มีลักษณะและคุณสมบัติตามสถานะของการเป็นเจ้าหนี้
§ หุ้นกู้มีประกัน (secured debt) มีการค้ำประกันหนี้โดยบุคคลที่สาม (ส่วนใหญ่ได้แก่ บริษัทแม่หรือสถาบันการเงิน) หรือมีการวางหลักทรัพย์ไว้เป็นประกันการชำระหนี้ ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้เหนือกว่าเจ้าหนี้รายอื่น
§ หุ้นกู้ไม่มีประกัน (non-secured debt) ปลอดการค้ำประกัน และปลอดหลักทรัพย์ที่วางไว้เป็นประกันการชำระหนี้ ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้ด้อยกว่าหุ้นกู้มีประกัน
§ หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (senior debt) ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้เท่าเทียมกับเจ้าหนี้รายอื่น แต่ด้อยกว่าหุ้นกู้มีประกัน
§ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (subordinated debt) ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้ เป็นรองเจ้าหนี้รายอื่นที่ไม่ด้อยสิทธิ นั่นคือ ได้รับชำระหนี้คืนหลังสุด
2. ตั๋วแลกเงิน (Bill of exchange) คือ ตราสารการเงินระยะสั้น ที่บุคคลรายหนึ่งสั่งให้บุคคลอีกรายหนึ่ง จ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋วแลกเงินนั้น ให้แก่บุคคลอีกรายหนึ่ง ในวันที่กำหนดบนหน้าตั๋วแลกเงินนั้น ตั๋วแลกเงินสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ในตลาดเงิน (money market) ส่วนใหญ่จะมีธนาคารหรือสถาบันการเงินค้ำประกัน หรือรับรอง หรือรับอาวัล หรือสลักหลังอย่างไม่มีเงื่อนไข
3. ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory note) คือ ตราสารการเงินระยะสั้นที่ออกโดยบุคคลรายหนึ่งสัญญากับบุคคลอีกรายหนึ่งว่า จะใช้เงินจำนวนที่ระบุบนหน้าตั๋วสัญญาใช้เงิน พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้ในวันที่กำหนด ตั๋วสัญญาใช้เงินโดยส่วนใหญ่จะแลกเปลี่ยนมือไม่ได้ (non-negotiable) และแสดงข้อความไว้บนหน้าตั๋ว แต่ถ้าไม่มีการแสดงไว้ดังกล่าว และตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นมีธนาคารหรือสถาบันการเงินค้ำประกัน หรือรับรอง หรือรับอาวัล ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นก็สามารถนำมาซื้อขายในตลาดเงินได้
4. บัตรเงินฝากแลกเปลี่ยนมือได้ (Negotiable Certificate of Deposit) คือ ตราสารแสดงการฝากเงินกับธนาคาร สามารถแลกเปลี่ยนมือได้ในตลาดรอง หากพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ ตราสารหนี้ภาคเอกชนจะมีความเสี่ยงมากกว่าตราสารหนี้ของภาครัฐ แต่ตราสารหนี้ภาคเอกชนจะมีอัตราผลตอบแทนสูงกว่า และมีอายุการลงทุนให้เลือกมาก ทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว
ผลตอบแทนจากการลงทุน
1. ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารทุน ได้แก่
1. เงินปันผล (Dividend) คือ เงินส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานรายปีของกิจการ พิจารณาจัดสรรโดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ที่จัดให้มีขึ้นภายหลังจากการรับรองงบดุลและงบการเงินของกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่จะประมาณเดือนเมษายนของทุกปี กฎหมายกำหนดให้กิจการต้องจัดให้มีประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นปีละหนึ่งครั้ง ภายในสี่เดือนนับจากวันสิ้นสุดปีบัญชี และไม่เกินรอบ 12 เดือนนับจากวันที่ประชุมครั้งหลังสุด
2. กำไรส่วนเกินทุน (Capital gain) คือ เงินได้ที่เกิดขึ้นจากผลต่างของราคาขายหลักทรัพย์ ที่สูงกว่าราคาทุน
2. ผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้ ได้แก่

1. ดอกเบี้ยรับ (Interest Received) ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยเป็นประจำ ตามจำนวนเงินที่คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ (coupon rate) บนตราสารหนี้ และตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล มีอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ร้อยละ 7 จ่ายดอกเบี้ยทุกหกเดือน หมายความว่า ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงิน 3.50 บาท ในเดือนมิถุนายน และธันวาคม ของทุกปี เป็นต้น และงวดสุดท้ายจะได้รับดอกเบี้ยพร้อมการชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวน
2. ส่วนลดรับ (Discount earned) ในกรณีของตราสารหนี้ประเภท zero coupon bond ผู้ลงทุนสามารถซื้อตราสารหนี้ในราคาซื้อลด หรือในมูลค่าที่ต่ำกว่าจำนวนเงินหน้าตั๋ว (face value) ที่ระบุไว้ว่าจะใช้คืนในวันกำหนดชำระ ตัวอย่างเช่น
ตราสารหนี้ประเภท Zero coupon bond ที่ไม่มีอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ จำนวนเงินที่จะชำระคืน 1,000 บาท กำหนดชำระคืนในปีที่ 5 นับจากวันลงทุน จำหน่ายให้แก่ผู้ลงทุนในอัตราผลตอบแทนจนถึงวันครบกำหนด (Yield to maturity) ที่ 7% ต่อปี ราคาซื้อของตราสารหนี้ประเภท Zero coupon bond จะคำนวณได้เท่ากับ 708.91 บาท
ส่วนลดรับ จะเท่ากับ 1,000 - 708.91 = 291.09 บาท

ส่วนลดรับ จึงเท่ากับ ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและราคารับชำระคืนเมื่อครบกำหนดนั่นเอง
3. กำไรส่วนเกินทุน (Capital Gain) ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินลดลง และมีผลให้อัตราผลตอบแทนในการลงทุน ( current yield) ที่มีผู้ประสงค์ซื้อจะลดลงด้วย ราคาซื้อขายของตราสารหนี้ที่มี coupon rate ที่ตราไว้ในอัตราสูงกว่า current yield จะขยับตัวสูงขึ้น และเป็นที่มาของกำไรส่วนเกินทุน

กองทุนรวมไม่รับประกันผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ (ยกเว้นกรณีของกองทุนรวมมีประกัน) ผู้ลงทุนอาจจะได้รับผลตอบแทน หรือไม่ก็ได้ หรืออาจจะขาดทุนจากการขายหน่วยลงทุนก็ได้
เมื่อการลงทุนของกองทุนรวมมีกำไร ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับส่วนแบ่งกำไรในรูปของเงินปันผล (Dividend) (ในกรณีที่กองทุนรวมนั้นมีนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผล) และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้น ผู้ลงทุนก็จะได้รับ กำไรส่วนเกินมูลค่าหน่วยลงทุน (Capital Gain) เมื่อผู้ลงทุนนั้นขายคืนหน่วยลงทุน
ส่วนความเสี่ยงของกองทุนรวมแต่ละประเภทนั้น มีความเสี่ยงในทำนองเดียวกันกับตราสารหรือหลักทรัพย์ ที่กองทุนรวมนั้น ๆ เน้นลงทุน เช่น กองทุนรวมตราสารทุนก็จะมีความเสี่ยงแบบเดียวกันความเสี่ยงของตราสารทุน กองทุนรวมตราสารหนี้ก็จะมีความสี่ยงแบบเดียวกับตราสารที่เน้นลงทุน เป็นต้น

การคำนวณราคาและการกำหนดมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม
กองทุนรวม ต้องคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของหลักทรัพย์และทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุนไว้ทุกวันทำการ การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และ มูลค่าต่อหน่วย จะกระทำตามขั้นตอน ดังนี้
คำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ โดยการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์และทรัพย์สินที่กองทุนลงทุน ตามหลักการมูลค่ายุติธรรม (mark to market) กล่าวคือ ต้องคำนวณมูลค่าจากราคาปิด หรือราคาเสนอซื้อครั้งสุดท้าย (ถ้าหลักทรัพย์นั้นไม่มีการซื้อขายในวันนั้น) บวกกับ เงินสดและรายได้ค้างรับทั้งหมดที่มี หักด้วย หนี้สิน (ที่ยังไม่ได้ชำระราคา)
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) = มูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด + รายได้ค้างรับ + เงินสด - หนี้สิน
คำนวณมูลค่าต่อหน่วย โดยการนำมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมาหารด้วย จำนวนหน่วยลงทุนที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของกองทุนนั้น
มูลค่าต่อหน่วย (NAV ต่อหน่วย) = มูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด + รายได้ค้างรับ + เงินสด - หนี้สิน
จำนวนหน่วยลงทุน
กองทุนรวมต้องประกาศมูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมูลค่าต่อหน่วย ให้ผู้ลงทุนทราบทุกวันสุดท้าย ของสัปดาห์ในกรณีของกองทุนปิด และทุกวันทำการที่มีการซื้อขายหน่วยลงทุนในกรณีของกองทุนเปิด การประกาศจะกระทำในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างน้อยหนึ่งฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวธุรกิจ และที่ทำการของบริษัทตัวแทนจำหน่ายเพื่อเผยแพร่ให้นักลงทุนทราบ
ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในกองทุนรวม
กองทุนรวมมีลักษณะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษํทจัดการ ผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่กองทุนรวมได้รับ จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสีย เช่น กองทุนรวมลงทุนในตราสารทุนได้รับเงินปันผล และหรือกำไรส่วนเกินทุน ไม่ต้องเสียภาษี กองทุนรวมลงทุนในตราสารหนี้ได้รับดอกเบี้ย ส่วนลดรับ และหรือกำไรส่วนเกินทุน ก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน เป็นต้น ส่วนผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมนั้น เมื่อได้รับเงินปันผล หรือกำไรส่วนมูลค่าหน่วยลงทุน จะมีภาระภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ในลักษณะเช่นเดียวกันกับภาระภาษีจากการลงทุนในตราสารทุน ดังกล่าวไว้แล้วข้างทุกประการ

ที่มา: